หลังจากเราทำความรู้จักกับ we!park กลุ่มที่ทำงานขับเคลื่อนเรื่องพื้นที่สาธารณะสีเขียวไปแล้วในตอนที่ 2 สำหรับตอนที่ 3 นี้ ทีมงาน City Together จะได้ขอพาท่านผู้อ่านมาฟังการวิเคราะห์ความคืบหน้าและข้อท้าทายเชิงนโยบายของ กทม. ที่สำคัญผ่านสายตานักภูมิสถาปนิกอย่างพี่ยศพล บุญสม กันต่อ
พี่ยศพลกล่าวถึงบรรยากาศหลังการเข้ารับตำแหน่งของผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ว่า การที่ผู้ว่าฯ มาจากฉันทามติของคนส่วนใหญ่ผ่านกระบวนการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ก็เป็นการส่งสัญญาณต่อการเปิดความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ อีกทั้งคนที่มีความสามารถก็ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะคนในภาครัฐเท่านั้น แต่ยังมีคนที่มีความสามารถซึ่งอยู่ในภาคส่วนอื่น ๆ และพวกเขาต้องการที่จะเข้ามามีส่วนร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องนี้ด้วย
นอกจากนี้ ยิ่งการมีนโยบายที่ตอบโจทย์กับความต้องการด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้เห็นความร่วมมือจากหลายภาคส่วนมากขึ้นอีก โดยเฉพาะกับ 3 นโยบายที่ได้กล่าวถึงไปในตอนที่แล้ว อย่างนโยบาย “สวน 15 นาที ทั่วกรุง” ก็เป็นการส่งสัญญาณเกี่ยวกับความร่วมมือ หรือนโยบาย “ปลูกต้นไม้ล้านต้นฯ” ที่ดูจะมีความคืบหน้ามากที่สุด เพราะดูแล้วอาจจะเป็นนโยบายที่ไม่ได้มีความซับซ้อนนัก แต่ในความเป็นจริงก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
พี่ยศพลอธิบายแก่ทีมงานฟังว่า การปลูกต้นไม้ไม่ใช่การปลูกแล้วก็เป็นอันเสร็จสิ้นหรือจบกันไปเท่านั้น แต่ยังต้องพิจารณาถึงว่าได้ปลูกในที่ที่ไม่ควรปลูกหรือไม่ หรือปลูกในสวนสาธารณะซึ่งมีต้นไม้มากอยู่แล้วทำไม แล้วต้นไม้ที่ปลูกไปใครจะดูแล หรือพันธุ์ไม้แบบไหนที่ควรปลูก เป็นต้น ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นส่วนที่สำคัญว่าทำอย่างไรที่นโยบายนี้จึงจะยั่งยืนและประสบความสำเร็จ
ดังนั้น จึงเป็นที่มาของการเข้าไปช่วยทำคู่มือต้นไม้ล้านต้นที่จะมากำกับว่า พันธุ์ไม้ที่เหมาะสมมีอะไรบ้าง สอดคล้องกับภูมิอากาศ ลดความร้อน ช่วยในการดูดซับฝุ่น หรือเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยเรื่องแมลงหรือไม่ รวมทั้งพื้นที่ไหนที่เป็นพื้นที่ว่างหรือมีความต้องการ ตลอดจนความพยายามทำฐานข้อมูลสำหรับการขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าว
สำหรับสิ่งที่เป็นข้อท้าทายของนโยบายนี้ก็คือ เนื่องจาก กทม. มีพื้นที่ในการกำกับดูแลจำกัด การหาพื้นที่ในการปลูกต้นไม้เพิ่ม โดยเฉพาะพื้นที่ของหน่วยงานอื่นอย่างพื้นที่ของการทางพิเศษฯ การรถไฟฯ พื้นที่วัด พื้นที่เอกชน จึงเป็นประเด็นท้าทายในระยะต่อไป
พี่ยศพลเน้นย้ำพร้อมกล่าวต่อไปว่า ตอนนี้คนต้องการปลูกต้นไม้จนเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้แล้ว สิ่งที่ตามมาก็คือการหาพื้นที่สำหรับปลูก รวมทั้งการวางระบบดูแลรักษา ซึ่งต้องคิดกันต่อไปว่าจะให้คนในชุมชนระแวกนั้นได้หรือไม่ หรือควรมีงบประมาณเข้าไปกระตุ้น หรือแต่ละพื้นที่มีการมีส่วนร่วมในการดูแลด้วย ไปจนถึงจะสามารถสร้างอาชีพได้หรือไม่ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่จำเป็นต้องพิจารณาเพื่อสร้างความยั่งยืนแบบครบวงจร เพื่อลดช่องโหว่ของนโยบายรวมทั้งทำให้นโยบายสมบูรณ์มากขึ้นด้วย
Comments