top of page
  • TPD

we!park – การมีส่วนร่วม มองอนาคตต่อไป และข้อฝากถึงคน กทม. (ตอนสุดท้าย)




ในตอนสุดท้ายนี้ ทีมงาน City Together จะได้เรียบเรียงบทสัมภาษณ์ของพี่ยศพล บุญสม ภูมิสถาปนิก และผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม we!park กันต่อ โดยครั้งนี้จะชวนไปมองมิติเรื่องการมีส่วนร่วม มิติของการมองไปยังอนาคตถึงสิ่งที่ กทม. ควรจะทำทั้งในระยะสั้นและระยะยาว หรือแม้กระทั่งอะไรที่ควรจะเป็นเรื่องเร่งด่วนตรงนี้ และท้ายที่สุดพี่ยศพลเองอยากจะฝากอะไรถึงชาว กทม. บ้าง


สำหรับในมิติแรก พี่ยศพลชี้ว่า “การทำฐานข้อมูล” เป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะทำให้เราทราบถึงสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน และยังใช้เป็นเครื่องมือในการชี้เป้า รวมทั้งเปิดให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมด้วยตามนโยบาย Open Bangkok ทั้งนี้ สำหรับฐานข้อมูลที่ว่านี้ก็จะเป็นการตอบโจทย์เรื่องนโยบาย “สวน 15 นาที ทั่วกรุง” และเรื่องการจัดทำพื้นที่ว่าควรจะเป็นสวนหรือพื้นที่ประเภทไหน อย่างการเป็นพื้นที่รับน้ำ พื้นที่ดูดซับฝุ่น หรือพื้นที่กิจกรรม


นอกจากนี้ ฐานข้อมูลในเรื่องที่ดินไม่ว่าจะเป็นของ กทม. หรือของภาครัฐอื่น ก็ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ใช้แพลตฟอร์มนี้ในการปักหมุดตำแหน่งที่ดินด้วย ปัจจุบัน we!park ก็ใช้แพลตฟอร์มที่ชื่อว่า ‘Green Finder’ ซึ่งจะบอกถึงข้อมูลพื้นที่สีเขียวในรัศมี 400 เมตร รวมทั้งแสดงภาพช่องโหว่ในเมืองหรือจุดที่เราต้องการพัฒนา ซึ่งคุณก็สามารถปักหมุดลงไปในนั้นได้ จากนั้นก็จะนำข้อมูลมาวิเคราะห์ต่อร่วมกับ กทม.


นอกจากเรื่องฐานข้อมูลแล้ว ก็มีเรื่องของ “กระบวนการ” ก็คือ การเข้าไปทำ programming กับชุมชนเพื่อสร้างความยั่งยืน จริงอยู่ที่ กทม. ก็คงจะเป็นเจ้าภาพหลัก แต่ทว่าหากกระตุ้นให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแล ก็จะสามารถทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ ท้ายที่สุดคือ ทำอย่างไรที่ผู้ปฏิบัติจะเข้าใจและทำไปด้วยกันได้ ซึ่งก็ควรที่จะมีคู่มือหรือหลักสูตรที่ไม่จำกัดเฉพาะสำหรับเจ้าหน้าที่เท่านั้นแต่หมายรวมถึงชุมชนด้วย ตลอดจนการมีกระบวนการของการประเมินผลลัพธ์ที่จะนำไปสู่การพัฒนาและการปรับปรุงต่อไปด้วย


สำหรับมิติของ “การมองอนาคต” ต่อไป พี่ยศพลบอกแก่ทีมงานว่า ที่ผ่านมาคือการวางระบบ/วางแผน เพื่อหาจุดที่เป็นช่องโหว่ต่าง ๆ ในระบบ อีก 6 เดือนข้างหน้าก็คือการขับเคลื่อนแผน และช่วงต่อไปคือการลงมือทำงานในพื้นที่ ทว่าก็ไม่ใช่การสร้างแต่เพียงอย่างเดียวแต่ยังคือการสร้างบุคลากรไปด้วย


เพราะฉะนั้นในอีก 6 เดือนข้างหน้า เราจะเห็นแต่ละพื้นที่สร้างการมีส่วนร่วมกับตัวเจ้าหน้าที่เขตและชุมชนในการมาร่วมกันทำกลไก/กระบวนใหม่ที่น่าจะเป็นบททดสอบว่าเราจะสามารถถ่ายทอดมันได้หรือไม่ อีกทั้งในปีถัดไปก็คือการขยายสเกลให้ได้มากขึ้น


ทั้งนี้ นอกจากการอบรมสร้างบุคลากรแล้ว ก็จะมีที่ปรึกษาประจำกลุ่มเขต ปัจจุบัน กทม. แบ่งเป็น 6 กลุ่มเขต เพราะฉะนั้นเราก็จะไปอบรมแต่ละเขตและก็จัดให้มีที่ปรึกษาประจำกลุ่ม โดยที่ปรึกษา/พี่เลี้ยงก็จะมาจากสมาคมวิชาชีพที่ร่วมกับมหาวิทยาลัยในย่านนั้น ๆ

.

สุดท้ายก็คือ ภารกิจของเมือง แน่นอนเรามี Green Bangkok 2030 แล้ว แต่ก็เชื่อว่ายังไม่ครอบคลุมความท้าทายของเมืองที่มีมากขึ้น คือไม่สามารถมองพื้นที่เป็นจุด เพราะฉะนั้นก็ต้องมองวิสัยทัศน์ในย่านที่จะต้องไปผนวกกับนโยบายต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น

.

พี่ยศพล กล่าวว่า สิ่งที่กำลังเริ่มทำก็คือ เราอยากให้การทำพื้นที่สีเขียวนี้ให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ด้วย คืออย่ามองว่าเป็นงานที่จำกัดอยู่กับภาครัฐหรือเป็นเฉพาะผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เพราะฉะนั้นเรามองการลงทุนหนึ่งอย่างแต่ได้ประโยชน์หลายอย่างจึงจะคุ้มค่ากับการลงทุน

.

สำหรับสิ่งที่พี่ยศพลอยากฝากถึงชาว กทม. ก็คือ “ผมคิดว่าเมื่อก่อน เรามักจะฝากความหวังไว้กับใครคนใดคนหนึ่งในการที่จะบอกว่า “เราอยากมีเมืองที่ดี” แต่ตอนนี้มันเป็น “โอกาส” ที่เราจะได้เมืองที่ดี เราก็ต้องมาร่วมกันทำ และผมเชื่อว่าพื้นที่กับโอกาสนี้มันเปิดขึ้นแล้ว ตอนนี้ก็คือ อยากจะให้ทุกคนมาร่วมกันทำ เพื่อสร้างเมืองที่เราอยากเห็นด้วยตัวของเราเอง ...ไม่ว่าคุณจะเป็นรัฐ เอกชน ประชาสังคม คุณก็มีหมวกเดียวกันคือการเป็น “พลเมืองของกรุงเทพฯ” เหมือนกัน เพราะฉะนั้นก็ทลายหมวกทลายข้อจำกัดแล้วมาร่วมในการทำเมืองที่ดีไปด้วยกัน”


3 views0 comments

コメント


bottom of page