หลายต่อหลายคน ไม่ว่าจะเป็นผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ไปจนถึงชาวเมือง ต่างพูดกันมานานแล้วว่า ศูนย์อาหารแบบที่เรียกว่า “Hawker Center” ควรจะเกิดขึ้นมาได้แล้วในกรุงเทพมหานคร เพื่อที่จะแก้ปัญหาอันสะสมมาอย่างยาวนานบนท้องถนนของกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปัญหาการจราจร ไปจนถึงปัญหาเรื่องสุขอนามัย
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ฝันที่จะมีศูนย์อาหารในแบบที่คนนิยมชมชอบเวลาไปเที่ยวต่างประเทศ โดยเฉพาะสิงคโปร์ อันว่ากันว่าดีนักดีหนา อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เมื่อมองทุกมิติของเมืองอย่างครบถ้วน
Hawker Center คืออะไร? ถ้าจะเอาแบบรวบรัดก็คือศูนย์อาหารที่จะเป็นเหมือนฟู้ดคอร์ท กระจายอยู่ตามชุมชนและพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วเมือง รูปแบบมาจากไหนไม่สำคัญ แต่ที่ปรากฎให้เห็นเด่นชัดก็คงจะเป็นที่สิงคโปร์ เป็นแหล่งรวมร้านอาหารราคาถูกตอบสนองความต้องการของผู้คนในพื้นที่ และยังเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว อีกทั้งยังเป็นการจัดการ “Street Food” ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ล้นไปนอกถนน มีที่ทางที่ชัดเจน
อย่างไรก็ดี ปัญหาก็คือว่า กรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะคนกทม.เอง จะ “แฮปปี้” กับการจัดระเบียบแบบนี้หรือไม่?
ปัญหาก็คือว่า ในมิติของชีวิตประจำวัน การที่บรรดาร้านอาหารของพ่อค้าแม่ขาย โดยเฉพาะตามย่านเศรษฐกิจอันเป็นศูนย์รวมของพนักงานออฟฟิศ ร้านเหล่านั้นสามารถตั้งอยู่บนริมทางที่ในความเป็นจริงควรเป็นแหล่งสัญจรด้วยเท้าได้ ก็เพราะจุดอ่อนที่ว่ามันมีความต้องการให้ร้านเหล่านั้นอยู่ตรงนั้น โดยผู้คนเอง นัยหนึ่งก็คือ มันสะดวกนั่นเอง ผู้คนสามารถเดินลงจากที่ทำงานบนตึก แล้วซื้อหาอาหารได้เลยทันทีที่บนทางเท้า ไม่จำเป็นต้องเดินไกล
ตัวอย่างสำคัญก็บรรดาย่านธุรกิจสำคัญของกรุงเทพ ไปจนถึงชุมชนใหญ่ ตั้งแต่ซอยอารีย์ไปจนถึงสุขุมวิท การที่ร้าน Street Food สามารถเบียดบังทางเท้าได้ ก็เพราะมันมี “ความต้องการ” อยู่จริง ๆ
เรียกง่าย ๆ ว่า ไม่มีคนซื้อ คนขายก็ไม่มาหรอก
ถ้าจะให้เกิดว่า ย้ายทุกคนไปที่ Hawker Center แต่มันไกลเกินไป คนก็จะไม่ชอบ เดินไกล ไปลำบาก บรรดาผู้ประกอบการก็ไม่ชอบเช่นกัน เพราะทำเลไม่ได้
นี่เป็นปัญหาโลกแตกที่พูดแล้วเหมือนจะง่าย ๆ แต่จริง ๆ แล้วยากมาก แก้ยาก เพราะความเคยชิน เราทั้งหลายก็จะปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่ที่เราสัญจรเท่านั้น ว่าอีกอย่างก็คือ ถ้าหน้าตีกออฟฟิศเรามีแผงลอยริมทาง ก็ซื้อหากันตรงนั้นแหละ แต่ถ้าไม่มีแล้ว ถูกย้ายไป เราอาจจะไม่เดินเลยไปก็ได้ แล้วหาช่องทางอื่นที่ “สะดวกสบาย” มากกว่า
อีกปัญหาหนึ่งก็คือ “พื้นที่” สำหรับการมี Hawker Center อย่างที่รู้กันว่ากรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่ “ที่ดิน” แพง และเริ่มเกิดความหนาแน่นอย่างมากแล้ว นั่นจึงนำมาสู่ประเด็นที่ว่า แล้ว Hawker Center มันจะไปอยู่ตรงไหน จะเอาทีตรงไหนในเมืองสร้าง
นอกจากนี้แล้ว ใครจะเป็นคนบริหารจัดการ จะให้กรุงเทพมหานครเองมาจัดการ หรือจะให้เอกชนมาจัดการ ซึ่งในอย่างหลังเราก็เห็นพัฒนาการมาตลอดหลายสิบปี ในแบบที่เราเรียกว่า “ตลาด” หรือ “ตลาดนัด” ที่รวมร้านค้าทั้งหลายทั้งปวงเอาไว้ด้วยการให้เช่าพื้นที่ แต่แน่นอน เมื่อเป็นของเอกชน ค่าเช่าก็ผันแปรไปตามปัจจัยหลายประการ จนทำให้เมื่อมันมีราคาสูงเราก็ยังสามารถเห็นร้านแผงลอยที่ตั้งค้าขาย “หน้าตลาด” เต็มไปหมดอยู่ดี ยังล้นออกมาทางเท้าอยู่ดี
นี่แหละ อีกปัญหาที่ต้องตีโจทย์ให้แตก ถ้าภาครัฐเองอย่างที่ผู้ว่าชัชชาติอยากทำเพื่อ “เคลียร์” ทางเท้า จะเอาที่ตรงไหนมาทำ และจะประกอบการอย่างไรให้สมประโยชน์กันทั้งผู้ให้เช่าและผู้เช่า ยังไม่รวมเรื่องการเลือกทำเลอีกด้วย
สุดท้าย ที่เป็นปัญหาแสนปวดใจ นั่นก็คือ ผู้ขายเองนั่นแหละ ที่ไม่ยอมโยกย้าย ด้วยเหตุผลนานับประการ แต่หลัก ๆ แล้วอาจจะพูดได้ว่าเป็นเรื่องของ “รายได้”
ถ้าเกิดการจัดระเบียบขึ้นมาจริง ๆ สิ่งที่จะเกิดตามมาก็คือ บรรดาแผงลอยทั้งหลายบนทางเท้าก็จะต้องเข้าสู่ระบบ มีการยืนยันตัวตน ต้อง “จ่าย” มากขึ้นเพื่อที่จะได้ขาย จากที่เคยเสียเงินให้กับเทศกิจจำนวนหนึ่งตามระเบียบ ก็ต้องเปลี่ยนมาเช่าที่ใน Hawker Center และที่สำคัญคือ “ต้องจ่ายภาษี”
เป็นที่รู้กันอยู่แล้ว และไม่อาจหาทางใดมาปฏิเสธได้ว่า ร้าน Street Food แผงลอยต่าง ๆ บนทางเท้าทั่วเมืองกรุง มีจำนวนมากมีรายได้ดี รายได้มหาศาล แต่ไม่ได้จ่ายภาษี และหนึ่งในเหตุผลที่แม้จะมีรายได้มหาศาลแต่ยังไม่ไปหาที่ทางค้าขายเป็นหลักแหล่ง ซื้อตึกเช่าอาคาร ก็เป็นเพราะว่า การอยู่บนท้องถนนและทางเท้า มันพรางตัวเองได้ดีกว่า
ดังนั้นแล้ว การจะส่งร้านเหล่านี้ไปอยู่แบบ Hawker Center มันจึงจะขาดหนทางการแก้ปัญหานี้ไม่ได้เลย ปัญหาที่ว่าพวกเขากลัวที่จะต้องเข้าระบบ กลัวการจะต้องไปยุ่งกับภาครัฐ กลัวต้องวุ่นวายกับระเบียบมากมาย และสุดท้าย กลัวที่จะเสียภาษี
พูดแล้วก็เหมือนจะดูเกินไป แต่เชื่อเถอะว่า ปัญหานี้ใหญ่หลวงจริง ๆ
อย่างไรก็ดี ในวันหนึ่ง การจัดระเบียบทางเท้าแผงลอยต้องเกิดขึ้นขนานใหญ่ เพราะมันคือปัญหาคาราคาซังของเมืองกรุงมาอย่างยาวนาน ก็ต้องยอมรับว่า แผงลอยเอย Street Food เอง มันนำมาซึ่งปัญหารถติด ทางเท้าถูกเบียดบัง ความปลอดภัยของผู้คนที่สัญจรไปมา หรือแม้กระทั่ง “ความสะอาดของเมือง” และอื่น ๆ อีกมากมายที่เขียนไปได้อีกหลายหน้ากระดาษ
แต่จะไปถึงตรงนั้นได้ ก็คงต้องใช้แรงให้ทั้งกรุงเทพมหานครช่วยกันคนละไม้คนละมือ!
Comentários