top of page
  • TPD

เมืองน่าอยู่: City Together BKK ร่วมสร้างเมือง ร่วมสร้างกรุงเทพฯ


ต้องทำอย่างไรบ้างให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน?


แน่นอนว่าแต่ละคน แต่ละกลุ่ม มีภาพฝันกรุงเทพฯ ต่างกันไป คน/กลุ่มที่ผ่านประสบการณ์ต่างกัน ก็ย่อมคาดหวังจะเห็นกรุงเทพฯ ในฝันต่างกัน แต่การจะไปถึงภาพฝันของแต่ละคน/กลุ่มได้ กรุงเทพฯ ต้องมีสภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวยซะก่อน สภาวะแวดล้อมที่พร้อมให้เมล็ดพันธุ์พฤกษาได้หยั่งรากลงดิน ทีม City Together BKK ไล่เรียงดูคัมภีร์เล่มเล็ก “สมุดปกขาว” แล้วลงความเห็นตรงกันว่า เราควรเริ่มต้นที่จุดเริ่มต้นจะดีที่สุด!!! นั่นก็คือมิติการพัฒนา “เมืองน่าอยู่” ให้กับกรุงเทพฯ


แล้วการจะเป็น “เมืองน่าอยู่” ได้ ต้องทำอะไรบ้าง? “สมุดปกขาว” บอกเราไว้ว่ามี 5 ประเด็นที่ต้องทำไปพร้อมๆ กัน


1) เพิ่มพื้นที่สีเขียว อาจนำพื้นที่รกร้างมาใช้เป็นพื้นที่สาธารณะ ให้ได้สัดส่วน 10 ตร.ม. ต่อคน และสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนอื่นในการพัฒนาพื้นที่ว่างเปล่า ให้เกิดการเชื่อมโยงคน วิถีชีวิต ชุมชน และสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกัน


2) บูรณาการการบริหารจัดการน้ำกับหน่วยงานอื่นๆ และจังหวัดใกล้เคียงให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างเป็นองค์รวม ที่สำคัญ น่าจะปรับปรุงระบบท่อระบายน้ำของกรุงเทพฯ ให้รอบรับความแปรปรวนของสภาพอากาศในปัจจุบัน


3) บริหารจัดการฝุ่น PM 2.5 อาจขยายโครงการต้นแบบอย่าง “อากาศสะอาดเขตปทุมวัน” ตามแนวคิดของเขตควบคุมมลพิษต่ำ (low emission zone) ให้ครอบคลุมไปทั่วทุกเขตของกรุงเทพฯ อาจบังคับใช้เขตมลพิษ ห้ามยานพาหนะที่มีมลพิษสูงเข้าไปในเขตดังกล่าว หรือจะใช้กลไกภาษีจูงใจให้สถานประกอบการช่วยลดมลพิษทางอากาศก็ทำได้


4) บริหารจัดการขยะที่เป็นระบบตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ เช่น ประกาศนโยบายการจัดการขยะที่ต้นทาง เป็นวาระของกรุงเทพฯ เพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการช่วยกันลดและแยกขยะที่ต้นทาง เพิ่มจุดรับคืนขยะเพื่อจัดเก็บและนำขยะไปรีไซเคิล หรืออาจตั้งศูนย์ส่งเสริมการจัดการขยะต้นทางในระดับเขต เป็นต้น


5) เพิ่มพื้นที่สาธารณะสำหรับคนรุ่นใหม่ ให้เป็นพื้นที่สนับสนุนความรู้และการพัฒนาตนเองโดยไม่มีค่าใช้จ่าย นอกจากนั้นยังสามารถเป็นพื้นที่ในการจัดเวทีเพื่อการแสดงออก แสดงความคิดเห็น เพิ่มโอกาสทางสังคมและโอกาสในการทำกิจกรรมของคนรุ่นใหม่


เนื้อหาของ “เมืองน่าอยู่” ทั้ง 5 ประเด็น ไม่ได้เบ็ดเสร็จตายตัว คน/กลุ่มอาจเพิ่มหรือลดวิธีการอย่างไรก็ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะถกเถียงกันได้ เพียงแต่ “สมุดปกขาว” ซึ่งเป็นเสียงสะท้อนจากเครือข่ายภาคประชาชนได้เสนอเป็นแนวทางไว้เช่นนี้ เป็นกรอบแนวทางกว้างๆ ว่าถ้าอยากเห็นเมืองน่าอยู่ กรุงเทพฯ ต้องมีอะไรและทำแบบไหน หากอ่านถึงตรงนี้หลายคนคงอยากจะเติมอีกหลายเรื่องเข้าไปใน “เมืองน่าอยู่” ต้องไม่ลืมว่าเรายังมีการพัฒนากรุงเทพฯ ในอีก 5 มิติเมือง ดังนั้น ความเห็นของท่านอาจอยู่ในเมืองใดเมืองหนึ่งที่เราจะมาเล่าให้ฟังกันโพสต์ต่อไป


Comments


bottom of page