ช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมานี้หลายท่านคงได้ยินชื่อของแพลตฟอร์มชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “ทราฟฟี่ฟองดูว์ - Traffy Fondue” ที่ถูกนำมาใช้บริหารจัดการปัญหาเมือง เพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน ช่วยให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสามารถบริหารจัดการปัญหาได้อย่างรวดเร็ว และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กทม. เองได้นำเอาแพลตฟอร์มนี้เข้ามารับข้อมูลจากการรายงานเหตุของประชาชนผ่านระบบ LINE ที่ @TraffyFondue และจะแสดงข้อมูลการแจ้งปัญหาเส้นเลือดฝอยในพื้นที่ กทม. ดังกล่าวบนแผนที่ออนไลน์ https://share.traffy.in.th/teamchadchart
.
แพลตฟอร์ม Traffy Fondue ถูกพัฒนาขึ้นโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) โดยมีหลักคิดที่ว่า “เปลี่ยนปัญหาของประชาชนให้เป็นข้อมูล” และ “เปลี่ยนข้อมูลให้เป็นความเข้าใจ” แพลตฟอร์มนี้จะทำหน้าที่สื่อสารปัญหาของเมืองระหว่างประชาชนและหน่วยงานที่รับผิดชอบ ซึ่งประชาชนสามารถแจ้งปัญหาที่พบไปให้ผู้ที่รับผิดชอบโดยตรงเพื่อให้แก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันหน่วยงานที่รับผิดชอบก็สามารถให้ข้อมูลและอัปเดตสถานการณ์การแก้ไขปัญหาสื่อสารกลับมาให้แก่ประชาชนได้อีกด้วย (1)
.
ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการ กทม. กล่าวว่า การทำงานของ Traffy Fondue ที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการ กทม. นำมาใช้นั้น มี 3 คำที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1.ประชาธิปไตย 2.ทลายไซโล 3.ตัดตอนสายการบังคับบัญชา ซึ่งหมายถึง คนทุกคนไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ย่อมมีสิทธิได้รับการรับฟังความเดือดร้อน ซึ่งคือความเป็นประชาธิปไตย และเกิดการประสานงานระหว่างหน่วยงานใน กทม. เพื่อแก้ปัญหาให้แก่ประชาชนโดยอัตโนมัติ เป็นการทลายไซโลที่มีลักษณะแบบแยกส่วนหรือต่างคนต่างทำ อีกทั้งเมื่อความเดือดร้อนของประชาชนเข้าสู่ระบบแล้ว ทุกคนตั้งแต่เจ้าหน้าที่เขต ผู้อำนวยการเขต ผู้อำนวยการสำนัก รองปลัดกทม. ปลัดกทม. รองผู้ว่าฯ กทม. จะเห็นพร้อมกันกับผู้ว่าฯ กทม. ว่าเรื่องราวเหล่านั้นถูกรับมือโดยเขตพื้นที่อย่างไร เป็นการตัดตอนสายการบังคับบัญชานั่นเอง
.
อ้างอิง
(1) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.). (2564, มิถุนายน 11). “Traffy Fondue” (ทราฟฟี่ ฟองดูว์) ตัวช่วยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.). https://www.nstda.or.th/home/performance_post/traffy-fondue/
留言