ผู้ว่าฯชัชชาติ กล่าวหลังประชุมหารือกับบริษัท กูเกิล ที่กำลังหันมาให้ความสนใจด้านการศึกษา โดยเล็งจะนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาระบบการศึกษาของโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร มีเป้าหมายคือ ให้นักเรียนนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนรู้ด้วยตนเองมากขึ้นผ่านระบบออนไลน์ ช่วยลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ลดความยุ่งยากของงานเอกสาร และใช้เทคโนโลยีประมวลผลโรงเรียนได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีระบบการศึกษานับเป็นการลงทุนรูปแบบหนึ่งเพื่ออนาคต เป็นอาวุธสำคัญเพื่อสู้กับมิติของความเหลื่อมล้ำในสังคม เมื่อเยาวชนได้รับศึกษาที่มีคุณภาพ ก็จะเพิ่มโอกาสในการทำงานและเพิ่มโอกาสในการหลุดพ้นจากความยากลำบากทางเศรษฐกิจ
จากข้อมูลรายงานสถิติการศึกษา ปีการศึกษา 2564 โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร รายงานว่า ปัจจุบันมีโรงเรียนจำนวน 437 โรงเรียน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนที่เปิดสอนในระดับอนุบาลและประถมศึกษา 327 โรงเรียน และอีก 110 โรงเรียน ประกอบด้วย โรงเรียนระดับประถมศึกษา 1 โรงเรียน โรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น 1 โรงเรียน โรงเรียนระดับอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมต้น และมัธยมปลาย 3 โรงเรียน และโรงเรียน มัธยมต้น และมัธยมปลาย 6 โรงเรียน เมื่อรวมกันแล้ว มีจำนวนนักเรียน 261,160 คน หรือคิดเป็นค่าเฉลี่ยเกือบ 600 คนต่อโรงเรียน ข้อสังเกตคือนักเรียนในระดับประถมศึกษามีจำนวนมากที่สุด 184,393 คน เขตหนองจอกมีโรงเรียนและจำนวนนักเรียนมากที่สุด (37 โรงเรียน 15,300 คน) เขตพญาไทมีเพียง 1 โรงเรียน ซึ่งมีน้อยที่สุดในสังกัดกรุงเทพ ด้านขตสัมพันธวงศ์ก็มีนักเรียนน้อยที่สุด (340 คน)
หากนักเรียน 261,160 คน ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ และตีว่าหักลบสัก 10-15% ที่อาจจะหลุดจากระบบการศึกษาไปในที่สุด (อิงจากข้อมูลที่นายอรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา เคยเปิดเผยไว้ว่าทุก16 ใน 100 คน ไม่ได้เรียนหนังสือ) อดไม่ได้ที่จะจินตนาการว่ากรุงเทพฯ จะเปลี่ยนไปมากแค่ไหน และประเทศไทยก็คงพัฒนากว่าทุกวันนี้อย่างไร สำคัญกว่านั้น ก็คือการแก้ปัญหาให้เด็ก 15% ที่อาจจะหลุดจากระบบการศึกษาไปนั้น มีสัดส่วนน้อยลงกว่าเดิมนั้น นี่คือโจทย์ที่กรุงเทพมหานครปัจจุบันต้องเดินหน้าต่อไป
Comments