21 ธ.ค. 65 - รองผู้ว่าฯ กทม. พร้อมด้วยผู้บริหาร ร่วมแถลงทบทวนการทำงาน 6 เดือน 21 วัน โดยมีรองผู้ว่าฯ ซึ่งรับผิดชอบภารกิจแต่ละด้านได้ ร่วมสะท้อนเป้าหมายการทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่ ก้าวสู่ปี 66 ตามตัวชี้วัดที่ผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธ์ ได้กำหนดไว้ 9 ด้าน 9 ดี ประกอบด้วย ปลอดภัยดี เดินทางดี สุขภาพดี สร้างสรรค์ดี สิ่งแวดล้อมดี โครงสร้างดี เรียนดี เศรษฐกิจดี และบริหารจัดการดี
.
ระหว่างการแถลง ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. ผู้รับผิดชอบตัวชี้วัดนโยบายสุขภาพดี บริหารจัดการดี โครงสร้างดี กล่าวว่า หลังจาก 99 วันที่ผ่านมา สิ่งหนึ่งที่เรามีการพูดถึงกัน คือ สิ่งหนึ่งที่เราได้พูดถึงกันคือทำอย่างไรให้สิ่งที่เป็นเป้าหมายของผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธ์ จากนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี เชื่อมโยงไปสู่ยุทธศาสตร์การพัฒนากรุงเทพมหานคร 7 มิติ โดยออกมาเป็นเป้าหมายให้กับคนกรุงเทพฯ 74 เรื่อง ภายใต้ 74 เรื่องนี้ได้มีการถ่ายทอดนำไปสู่ 74 OKRs ของหน่วยงานเรียบร้อยแล้ว โดยกำหนด KPIs ของหน่วยงานนั้น ๆ และให้หน่วยงานทำคำของบประมาณในปี 67 จะใช้วิธีคิดงบประมาณฐานศูนย์ Zero Based เพื่อมองเป้าหมายว่าประชาชนจะได้อะไร และพิจารณาว่าอะไรควรดำเนินการต่อ เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน (https://pr-bangkok.com/?p=27019)
.
สำหรับ ยุทธศาสตร์พัฒนากรุงเทพฯ ดังกล่าวถูกบรรจุอยู่ในแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2556-2575) ซึ่งประกอบไปด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนา 7 มิติ ได้แก่ 1) มหานครปลอดภัย 2) มหานครสีเขียวสะดวกสบาย 3) มหานครสำหรับทุกคน 4) มหานครกะทัดรัด 5) มหานครประชาธิปไตย 6) มหานครแห่งเศรษฐกิจและการเรียนรู้ และ 7) การบริหารจัดการ
.
ทั้งนี้ การจัดทำงบประมาณฐานศูนย์ (zero-based budgeting) เป็นหนึ่งในนโยบาย 216 ข้อของผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธ์ โดยระบุเป้าหมายว่าเพื่อให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์สูงสุดจากการจัดสรรงบประมาณที่มีประสิทธิภาพ เพราะโดยปกติงบประมาณของ กทม.จะใช้งบประมาณของปีก่อนหน้าเป็นฐานและปรับเพิ่มสำหรับปีงบประมาณใหม่ การทำงบประมาณในลักษณะนี้อาจไม่ได้สะท้อนสถานการณ์จริง ดังนั้น กทม.จะจัดทำงบประมาณแบบ zero-based budgeting โดยพิจารณางบประมาณใหม่ทุกรายการ ไม่ใช่เพียงใช้งบประมาณของปีที่แล้วเป็นฐานเพื่อปรับความเหมาะสมของการจัดสรรงบประมาณไปในจุดต่างๆ เพื่อประสิทธิภาพและความต้องการสูงสุด รวมถึงการทบทวนและปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นในการปฏิบัติงานของ กทม. (https://www.chadchart.com/policy/6217314a4e43cd8b4760bc72)
.
นอกจากนี้ รองผู้ว่าฯ ทวิดา กมลเวชช ยังได้สะท้อนความคืบหน้าของระบบบริการสาธารณสุข 3 ด้าน คือ 1) ศูนย์บริการคนพิการแบบเบ็ดเสร็จ เปิดให้บริการในรูปแบบ One Stop Service จำนวน 9 แห่ง ซึ่งจะในปี 2566 จะเปิดเพิ่มอีก 2 แห่งจนครบ 11 โรงพยาบาลในสังกัด กทม. 2) บริการทางการแพทย์ผ่านระบบโทรเวชกรรม Telemedicine ปัจจุบันดำเนินการในโรงพยบาลสังกัด กทม. 9 แห่ง และในปี 2566 จะเปิดให้บริการเพิ่มอีก 2 แห่ง 3) BKK Pride Clinic ให้บริการแล้ว 11 แห่ง (ก.ค. - พ.ย. 65) และจะเปิดเพิ่ม 5 แห่ง จนครบ 16 แห่ง ภายในธันวาคม 2565 นี้
Comments