Voice of Bangkokians
“50 เขต 50 ความหลากหลาย”
กรุงเทพมหานคร เป็นนครใหญ่ มีพื้นที่มากมาย ประชากรก็จำนวนมหาศาล เช่นเดียวกับมหานครใหญ่ทั่วโลก และสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยก็คือ “ความแตกต่างหลากหลาย”
ในเมื่อเป็นเมืองที่รวบรวมคนจากหลายแหล่งที่มาให้เข้ามาตั้งรกราก ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตก็เกิดขึ้น พอเวลาล่วงไป ความแตกต่างหลากหลายเชิงการใช้งานพื้นที่ก็เกิดขึ้น บางพื้นที่เป็นที่อยู่อาศัย บางพื้นที่เป็นเขตอุตสาหกรรม บางพื้นที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ เป็นต้น
แต่การเกิดขึ้นของพื้นที่เหล่านั้น มัน “เป็นไปโดยธรรมชาติ” กล่าวคือมันเกิดขึ้นจากผู้คนเอง ผู้คนเข้าจับจองพื้นที่เหล่านั้นในอดีต และเปลี่ยนแปลงมันให้เข้ากับวิถีชีวิต มีการเข้าไปเกี่ยวข้องของรัฐน้อยมาก
ในแง่หนึ่งมันก็สะท้อนถึงความเป็นมาหรือรากเหง้าของพื้นที่ได้เป็นอย่างดี แต่ในแง่หนึ่งมันก็กลายเป็นความ “สะเปะสะปะ” บางประการเช่นเดียวกัน และกลายเป็นว่ากรุงเทพมหานครก็ปล่อยเวลาล่วงไปให้เมืองมันเติบโต มีคนมากก็เอาโครงส้รางพื้นฐานไปลงหน่อย ท้ายที่สุดเมืองมันเลยขาดการ “จัดการพื้นที่” หรือการ “Zoning” นั่นเอง
กล่าวคือ กรุงเทพเป็นมหานครที่มีความพิลึกอยู่ในตัวพอสมควร เช่น มีย่านพระราม9 - รามคำแหง - บางกะปิ เป็นทั้งพื้นที่เศรษฐกิจ ที่อยู่อาศัย และการศึกษาอัดรวมกัน เขยิบออกมาก็เป็นบริเวณที่อยู่อาศัยอย่างเสรีไทยซึ่งติดกับบางชันอันมีนิคมอุตสาหกรรม และเลยไปหน่อยเดียวก็เป็นชุมชนขนาดใหญ่อย่างมีนบุรี ที่ถัดไปอีกเล็กน้อยก็เป็นเขตอุตสาหกรรมซ้อนเข้าไปอย่างลาดกระบัง ที่ติดกับชายของเมืองอย่างนอกจอกที่เป็นพื้นที่ชุมชนและเกษตรกรรม
มันก็ดู “มั่ว ๆ” อยู่มาก
เพราะเมื่อถ้าเทียบกับนครใหญ่อื่น ๆ ทั่วโลก ก็จะเห็นได้ว่ามีน้อยแห่งมากที่จะมีเขตอุตสาหกรรมอยู่ให้พื้นที่ชุมชนล้อมรอบ แค่ปัญหานี้ก็พูดกันได้ยาวอีกหลายสิบวัน ไม่ว่าจะด้วยเรื่องเชิงการผลิตไปจนถึงมิติด้านความปลอดภัยสาธารณะ
ทั้งหมดเกิดขึ้น เพราะเราไม่ได้ทำการ “Zoning” เมือง นั่นเอง ในขณะที่เมืองใหญ่อื่น ๆ จะวางพื้นที่เศรษฐกิจไว้ใจกลางเมือง ล้อมรอบด้วยพื้นที่อยู่อาศัย และให้ขอบนอกเมืองเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม แต่กรุงเทพไม่ใช่ ทุกอย่างผุดขึ้นมั่วไปหมด
ดังนั้น อาจจะถึงเวลาที่ต้องทำการจัดสรรพื้นที่เมืองกันอย่างจริงจังเสียที แต่อาจจะไม่ถึงขนาดที่ว่าจะย้ายทุกอย่างไปที่ทางใหม่
เพียงแค่จัดแบ่งพื้นที่ต่าง ๆ ให้ใหม่ให้มันมีทิศทางในการพัฒนาที่ชัดเจนมากขึ้น ว่าในอนาคต พื้นที่เหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหน
ทั้งหมด 50 เขตของกรุงเทพมหานครล้วนแล้วแต่มีเอกลักษณ์ของตัวเองที่แตกต่างหลากหลายกันไป การจัด Zoning ก็จะยิ่งทำให้จุดเด่นของพื้นที่เหล่านั้นมีมูลค่าขึ้นมาได้ เช่น ขีดเส้นแบ่งไปเลย ว่าตรงไหนคือเขตเศรษฐกิจ เขตไหนคือชุมชนที่อยู่อาศัย เขตไหนจะเป็นอุตสาหกรรม และเขตไหนจะเป็นพื้นที่เกษตรกรรม จากนั้นก็จะเห็นได้แล้วว่า ต่อไปจะทำอย่างไรกับพื้นที่ต่อ
ยกตัวอย่างเช่นพื้นที่ที่มีมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่และเป็นศูนย์รวมทางเศรษฐกิจอย่าง ปทุมวัน อันมีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พื้นที่ผสมผสาน การศึกษา ชุมชน และเศรษฐกิจ อย่างรามคำแหง ไปจนถึงพื้นที่รอบ ๆ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งหมดก็ต้องจัดการพื้นที่ให้ผสมผสานกันไปให้ได้ อาจจะใช้ตัวอย่างการเป็น “College Town” ในต่างประเทศก็ได้ เช่นจุฬาฯร่วมมือกับหน่วยทางเศรษฐกิจโดยรอบให้ทำงานควบคู่กันพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยรามคำแหงทำงานร่วมกับชุมชนสร้างพื้นที่ให้นักศึกษาร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและศิลปวัฒนธรรมในพื้นที่เป็นต้น
อีกตัวอย่างก็เช่นย่านทองหล่อ - เอกมัย ที่แน่นอนว่าเป็นที่รู้กันดีกว่าเป็นแหล่งกินดื่มที่สำคัญของกรุงเทพ แต่ก็เป็นโอกาสของกทม.เช่นเดียวกันที่จะเข้าไปร่วมบริหารจัดการพื้นที่ บริหารสมดุลระหว่างพื้นที่อยู่อาศัยและร้านรวงต่าง ๆ มีการจัดมาตรการต่าง ๆ เพื่อรองรับผู้คนที่จะผ่านไปมาเพื่อสังสรรค์ พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างจริงจัง
นี่ยังไม่รวมพื้นที่รอบนอกของกรุงเทพอย่าง หนองแขม หนองจอก ทุ่งครุ หรือบางขุนเทียน ที่เป็นทั้งพื้นที่ทางการเกษตรและอุตสาหกรรมอยู่รวมกัน ถ้าจัด Zoning ให้เรียบร้อย เราก็อาจจะเห็นเป้าหมายว่าจะพัฒนามันต่อไปยังไง จะทำอย่างไรให้เกษตรกรรมในพื้นที่มีมูลค่ามากขึ้น โรงงานกับเกษตรกรจะอยู่ร่วมกัน สร้างผลประโยชน์ต่อกันได้อย่างไร ไม่นับรวมว่าต่อไปอาจจะพัฒนาเป็นพื้นที่ท้องเที่ยวเชิงธรรมชาติได้อีกด้วย
ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้ถ้าเมืองทำการ “Zoning” แบ่งเมืองออกเป็นส่วน ๆ หาจุดเด่น จุดด้อย แล้ววางแผนการพัฒนาเมืองและผังเมืองอย่างจริงจัง เพื่อจะได้ขับเน้นจุดเด่นของกรุงเทพมหานครทั้ง50เขตอันแตกต่างหลากหลายออกมา สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เมืองที่ดีขึ้น และอนาคตที่ดีขึ้นต่อไป
Comments