หลังจากที่คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1) มีการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม เสร็จสิ้นแล้ว และกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภา ในระหว่างวันที่ 24 – 25 กุมภาพันธ์ 2564 โดยมีจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่แปรญัตติในร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม จำนวนทั้งสิ้น 109 คน แบ่งเป็น ส.ส. 101 คน
และ ส.ว. 8 คน ซึ่งมีสาระสำคัญของการแก้ไข ดังนี้
การแก้ไขมาตรา 256 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
การเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มี 4 ช่องทาง (เหมือนรัฐธรรมนูญ 60 เดิม) ได้แก่ (1) คณะรัฐมนตรี (2) ส.ส. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ (3) ส.ว. และ ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของทั้งสองสภา และ (4) ประชาชนไม่น้อยกว่า 50,000 คน
การพิจารณาวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ แก้ไขจาก ใช้มติไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง และต้องมี ส.ว. รับหลักการไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว. ทั้งหมดที่มีอยู่ เป็น ใช้มติไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด
การพิจารณาวาระที่ 2 ขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ใช้เสียงข้างมาก และเมื่อผ่านวาระที่ 2 แล้ว ให้รอไว้ 15 วันก่อนเข้าวาระที่ 3 (เหมือนรัฐธรรมนูญ 60 เดิม)
การพิจารณาวาระที่ 3 ขั้นสุดท้าย แก้ไขจาก ใช้มติมากกว่ากึ่งหนึ่ง และต้องมี ส.ส. ฝ่ายค้าน เห็นชอบไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรครวมกัน และต้องมี ส.ว. เห็นชอบไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว. ทั้งหมดที่มีอยู่ เป็น ใช้มติไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด
การกำหนดให้มีการทำประชามติรัฐธรรมนูญ และการกำหนดให้พักไว้ 15 วัน ก่อนนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ (เหมือนรัฐธรรมนูญ 60 เดิม)
การส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประเด็นที่แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มีการเพิ่ม ประเด็นเรื่องกระบวนตราขึ้นไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อนทำประชามติ และนำขึ้นทูลเกล้าฯ
การเพิ่มหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับจะใช้กลไกของ “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” โดยมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) 200 คน มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด โดยมีคุณสมบัติ ได้แก่ (1) สัญชาติไทยโดยการเกิด (2) อายุ 18 ปี ในวันเลือกตั้ง (3) มีชื่อในทะเบียนบ้านจังหวัดที่เลือกตั้ง ไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือเกิดในจังหวัดที่เลือกตั้ง หรือเคยรับราชการในจังหวัดที่เลือกตั้ง ไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือเคยมีชื่อในทะเบียนบ้านจังหวัดที่เลือกตั้ง ไม่น้อยกว่า 5 ปี และในการเลือกตั้ง สสร. นั้น จะใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง โดยมีวิธีการคำนวณสัดส่วนประชากรต่อจำนวน สสร. 1 คน และวิธีการเลือกตั้ง สสร. จะใช้รูปแบบเดียวกับของ ส.ส. แบบแบ่งเขต ซึ่งถ้ามีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ตามหมวด 15/1 ต้องมีการเลือกตั้ง สสร. ภายใน 90 วัน โดยผู้สมัคร สสร. ให้ใช้วิธี “แนะนำตัว”
เมื่อมี สรร. แล้ว ให้มีการเลือกประธาน และรองประธาน 2 คน โดยประธานรัฐสภาเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ สสร. จะต้องจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จ ภายใน 240 วัน นับแต่วันที่มีการประชุมสภาครั้งแรก ซึ่งจะจัดประชุมขึ้นเมื่อมี สสร. ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 90 ของ สสร. ทั้งหมดโดยในระหว่างการจัดทำรัฐธรรมนูญก็จะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทุกจังหวัดอย่างทั่วถึง
สำหรับขั้นตอนการจัดทำรัฐธรรมนูญ มีขั้นตอนที่สำคัญ ได้แก่ (1) สภาร่างรัฐธรรมนูญตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมาจาก สสร. หรือบุคคลภายนอกก็ได้ (2) สภาร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญที่ยกร่างเสร็จ (3) เสนอไปยังรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็น โดยไม่ลงมติ (4) ประธานรัฐสภาส่งไปยัง กกต. เพื่อจัดทำประชามติ และ (5) ถ้าผ่านประชามติ ให้ประธานรัฐสภานำขึ้นทูลเกล้าฯ และประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน วุฒิสภา และประชาชน
ที่ต่างมีวาระของตนเองในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนี้ จะนำพาให้ร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขนี้ไปถึงจุดหมายหรือไม่ เราจะได้เห็นโฉมหน้าของ สสร. ทั้ง 200 คน หรือไม่ คาดว่าจะรู้ผลได้ภายในเดือนมีนาคมนี้ แต่กระนั้น ระหว่างนี้จนถึงการลงมติในวาระที่ 3 อะไรก็เกิดขึ้นได้เสมอ โปรดจับตามอง.
Comments