top of page
  • TPD

เสริมพลังผู้สูงวัยรับมือภัยพิบัติ


เมื่อวันที่ 13 ก.ย. ที่ผ่านมา ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการ กทม. ได้บรรยายพิเศษ หัวข้อ “นโยบายการจัดการพิบัติเกี่ยวกับผู้สูงอายุของกรุงเทพมหานคร” ในกิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพพัฒนาพลังผู้สูงวัยในภาวะสถานการณ์ภัยพิบัติ” โดยมีบางช่วงบางตอนที่น่าสนใจว่า


“เมื่อพูดถึงการจัดการภัยพิบัติเรามักจะมองกลุ่มผู้สูงอายุเป็นเป้าหมายของการช่วยเหลือ เนื่องจากเงื่อนไขทางสุขภาพของผู้สูงอายุเอง ทั้งผู้ป่วยที่มีอาการหลงลืมหรือผู้ป่วยที่ติดเตียง อย่างไรก็ตามเรายังไม่มีระบบการจัดการที่ดี และเราจะมองผู้สูงอายุเป็นเพียงเป้าหมายไม่ได้ เราต้องมีการเตรียมผู้สูงอายุให้พร้อมสำหรับสถานการณ์ภัยพิบัติด้วย ทั้งนี้การจัดการภัยพิบัติที่ดีคือการป้องกันและลดผลกระทบ ต้องคิดก่อนว่าผู้สูงอายุไม่ใช่เป้าหมาย และก่อนเกิดสถานการณ์เราจัดการอย่างไร ซึ่งเชื่อว่ากำลังของผู้สูงอายุมีมากกว่านั้น และอาจสามารถดูแลชุมชนด้วยกำลังตนเองได้ดีกว่าหน้าที่ เนื่องจากเป็นผู้ที่อยู่ในพื้นที่มานาน สามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับคนในชุมชนได้ดีกว่า ซึ่งคงต้องดูว่าพลังของผู้สูงอายุคือตรงไหน แล้วเจ้าหน้าที่ควรเสริมอย่างไร เพื่ออุดช่องว่างที่มีอยู่”


ท่านทราบหรือไม่ว่า ทำไมการเสริมศักยภาพและพลังให้แก่ผู้สูงอายุของ กทม. จึงสำคัญ


เพราะว่า นอกจาก “การสร้างเส้นเลือดฝอยที่แข็งแรง” จะเป็นหนึ่งในนโยบายดูแลผู้สูงอายุของ กทม. แล้ว ขณะนี้ยังถือได้ว่า กทม. เป็น “สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์” (completely aged society) อีกด้วย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการ กทม. เคยกล่าวเอาไว้ว่า ปัจจุบัน กทม. มีผู้สูงอายุมากกว่า 21.68 % ของประชากรทั้งหมด และมีจำนวนของผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ขณะที่จำนวนประชากรลดน้อยลง


จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การเสริมศักยภาพและพลังให้แก่ผู้สูงอายุของ กทม. จึงเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ใช่เป็นแต่เพียงกลุ่มเป้าหมายที่รอความช่วยเหลือเท่านั้น แต่ยังมีศักยภาพที่จะช่วยเหลือทั้งตนเองและผู้อื่น อีกทั้งยังสามารถสร้างความเข้มแข็งและเชื่อมโยงสายสัมพันธ์ภายชุมชนได้ดีอีกด้วย


1 view0 comments

Comentários


bottom of page