top of page
  • TPD

เมืองเป็นธรรม: City Together BKK ร่วมสร้างเมือง ร่วมสร้างกรุงเทพฯ


เมืองเป็นพื้นที่ที่ความเหลื่อมล้ำปรากฏมากที่สุด คนรวยกระจุก ส่วนคนจนกระจายไปทั่ว ผู้คนที่ทำงานในตึกราสูงสง่าทันสมัยในเมืองช่างให้ภาพต่างกับผู้คนในชุมชนแออันที่ต้องดิ้นรนเพื่อหาเช้ากินค่ำในแต่ละวัน กรุงเทพฯ ก็เช่นกันที่ผู้คนหลายหลากสถานะทางเศรฐกิจสังคมมาอยู่ร่วมกัน แต่การเข้าถึงโอกาสขั้นพื้นฐานในชีวิตมากน้อยแตกต่างไม่เท่าเทียม “เมืองเป็นธรรม” เป็นมิติหนึ่งที่กรุงเทพฯ พึงมี เพื่อให้มหานครแห่งนี้น่าอยู่สำหรับทุกกลุ่มคน ถ้าเราสำรวจตรวจดูคัมภีร์เล่มเล็ก “สมุดปกขาว” ก็จะพบว่ากรุงเทพฯ จะเป็นธรรมขึ้นได้ ต้องทำอย่างน้อย 7 เรื่องนี้


1. กลุ่มเปราะบางใช้ชีวิตได้อย่างเท่าเทียม - ผู้สูงวัย และคนพิการจำนวนมากต้องการรายได้ แต่ขาดโอกาสในการทำงาน จึงควรส่งเสริมโอกาส เพิ่มทักษะ ต่อยอดประสบการณ์ ให้สามารถใช้ชีวิตร่วมกันอย่างเท่าเทียม อารยสถาปัตย์ต่างๆ แบบ universal design ก็ต้องมีเพียงพอรองรับกลุ่มเปราะบางให้สามารถเข้าถึงทุกพื้นที่ในกรุงเทพฯ อีกกลุ่มเรื่อง คือช่วยเหลือเด็กที่เติบโดในกรุงเทพฯ แต่ตกหล่นจากโครงการภาครัฐ


2. ศูนย์เด็กเล็กได้มาตรฐาน - ต้องอัดฉีดงบประมาณในการบริหารศูนย์ฯ ทั้งเชิงโครงสร้าง บุคลากร และทรัพยากรการบริหารจัดการ กระจายให้ทั่วถึงทุกพื้นที่ มีมาตรฐาน รวมถึง ศึกษาความเป็นไปได้ที่จะขยายอายุเด็กขั้นต่ำที่จะรับเข้าดูแลในศูนย์ฯ และขยายเวลาการดำเนินงานของศูนย์ฯ เพื่อรองรับครอบครัวที่มีได้น้อย


3. ที่อยู่อาศัยที่เพียงพอ - ไม่ใช่คนทุกกลุ่มจะเข้าถึง “บ้าน” คนไร้บ้าน คนรายได้น้อย ผู้เช่าที่ถูกไล่ที่จำนวนมากต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย กรุงเทพฯ ควรแก้ปัญหาให้คนไร้บ้านอย่างยั่งยืน โอบอุ้มผู้มีรายได้น้อยให้สามารถเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยได้ และแก้ปัญหาการถูกเวรคืนไล่ที่จากการพัฒนาทั้งหลาย


4. ระบบการศึกษาเท่าเทียมทั่วถึง - เด็กทุกคน โดยเฉพาะที่ยากจน อยู่ในชุมชนแออัด หรืออยู่ในกลุ่มชายขอบ ควรได้รับการส่งเสริมให้เข้าถึงระบบการศึกษาที่เท่าเทียม มีมาตรฐาน มีกลไกสนับสนุนทรัพยากรในการจัดการศึกษาทางเลือก มีรูปแบบที่หลากหลาย ซึ่งอาจทำได้ด้วยความร่วมมือเชิงเครือข่ายกับภาคเอกชนและภาคประชาชน กระจายอำนาจให้สำนักงานเขตที่เข้าใจปัญหาได้ดีกว่าคอยดูแล ส่วนครูและบุคลากรทางการศึกษาของ กทม. ก็ควรมีระบบสวัสดิการที่เหมาะสม มีความก้าวหน้าในสายงานอาชีพเทียบเทียมสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ


5. ความเป็นธรรมทางการเมือง - กรุงเทพฯ อาจจัดพื้นที่กลางสำหรับการแสดงออกทางการเมืองอย่างสงบ เป็นพื้นที่ปลอดภัยและสะอาดโดยการอำนวยความสะดวกในการชุมนุม ซึ่งสิทธิเสรีภาพเหล่านี้ ย่อมต้องสอดคล้องและเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ


6. ความเท่าเทียมทางเพศ - การกำหนดนโยบายของกรุงเทพฯ ก็ดี การจัดสรรตำแหน่งบริหารและคณะกรรมการชุดต่างๆ ก็ดี ควรสะท้อนถึงความเท่าเทียมทางเพศ และรวมถึงการมีตัวแทนคนพิการและผู้มีความหลากหลายทางเพศในสัดส่วนที่เหมาะสม สำหรับการคุ้มครองสิทธิและศักยภาพของสตรี ก็สามารถส่งเสริมได้ผ่านการจัดตั้งกองทุนอย่างต่อเนื่อง


7. ชุมชนอยู่ได้เมืองก็อยู่รอด - ดังนั้น จึงต้องส่งเสริมให้ชุมชนแออัดในกรุงเทพฯ จดทะเบียนชุมชนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการชุมชนด้วยตนเอง


“เมืองเป็นธรรม” เป็นเงื่อนไขเชิงโอกาสของทุกกลุ่มคนในกรุงเทพฯ เพราะยิ่งผู้คนเข้าถึงต้นทุนพื้นฐานในชีวิตมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งลดความตึงเครียดที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำมากเท่านั้น การพัฒนากรุงเทพฯ อาจเริ่มต้นในมิติอื่นๆ ได้ แต่ถ้าขาดการเข้าถึงความจำเป็นพื้นฐานอย่างการศึกษา ที่อยู่อาศัย สภาวะแวดล้อมที่เป็นธรรมเสียแล้ว กรุงเทพฯ ก็ไม่น่าอยู่สำหรับคนอีกจำนวนไม่น้อย “เมืองเป็นธรรม” จึงเสริมมิติความเป็นมนุษย์ ทำให้ผู้คนยืนหยัดและเติบโตได้ด้วยตนเอง


Comments


bottom of page