ผู้คนจะหวงแหนถิ่นที่อยู่ของตน จากการมีประสบการณ์ร่วมของกลุ่มคนที่สัมพันธ์กับพื้นที่ ถ้าผู้คนได้ร่วมคิด ร่วมสร้าง ร่วมลงมือพัฒนาและแก้ปัญหาสารพันในชีวิต ความรู้สึกเป็นเจ้าของพื้นที่ก็ย่อมเกิดขึ้นเป็นของธรรมดา และตามมาด้วยการร่วมแรงร่วมใจพัฒนาและแก้ปัญหายุ่งยากนับตั้งแต่เรื่องส่วนตัวไปจนถึงส่วนรวม กรุงเทพฯ ก็เช่นกันที่แม้จะเป็นเมืองใหญ่ คราคร่ำไปด้วยผู้คนมากหน้าหลายตา แต่ถ้ามีพื้นที่ให้คนกรุงเทพฯ ได้กำหนดอนาคตตนเอง มีสามารถส่งเสียงความต้องการ ร่วมส่วนพัฒนาขับเคลื่อนเมือง ทิศทางการพัฒนาทั้งหมดก็จะตอบโจทย์ตรงเป้าคนเมืองอย่างแท้จริง ในแง่นี้ “เมืองมีส่วนร่วม” จึงเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงมิติเมืองอื่นๆ เข้าด้วยกัน จาก "สมุดปกขาว" สิ่งเครือข่ายภาคประชาชนอยากเห็น อยากให้กรุงเทพฯ ทำมีด้วยกัน 3 เรื่อง
1) การมีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบาย - ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่ช่องทางรับฟังการสะท้อนปัญหาจากพลเมืองทุกภาคส่วน ร่วมกำหนดแนวทาง/วิธีการดำเนินงานในการแก้ปัญหา การกำกับติดตามและตรวจสอบการดำเนินงานของกรุงเทพฯ ซึ่งอาจมีเวทีกลางระดับชุมชน/เขต เป็นกลไกร่วมในการพัฒนากรุงเทพฯ
2) สภาพลเมือง - การมีสภาพลเมืองของกรุงเทพในทุกพื้นที่เป็นกลไกคู่ขนานกับสภากรุงเทพฯ และมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่องโดยมีสภากรุงเทพเป็นผู้ขับเคลื่อนหลัก จะทำให้เกิดพลวัตของการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
3) ชุมชนจัดการตนเอง - ชุมชนที่เข้มแข็งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาเมืองในทุกมิติ ดังนั้น จึงควรส่งเสริมให้ชุมชนสามารถจัดการตนเองได้ทั้งในแง่งบประมาณแบบมีส่วนร่วม (participatory budgeting) การวางแผนและบริหารจัดการ จัดทำธรรมนูญในแต่ละพื้นที่เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ ที่สำคัญ ก็คือ ต้องจัดตั้งศูนย์ชุมชนจัดการตนเองในระดับเขตและพื้นที่ที่เข้าใจลักษณะเฉพาะของพื้นที่
หัวใจสำคัญของการมีส่วนร่วมคือ อำนาจตัดสินใจและการสื่อสาร ขณะที่ อำนาจตัดสินใจของผู้เข้าร่วมยิ่งเพิ่มการยอมรับในนโยบายของกรุงเทพฯ ที่จะมีผลต่อผู้คน การสื่อสารก็สะท้อนส่วนเสียงของผู้คนให้ผู้บริหารรับรู้ปัญหา เป็นประโยชน์ในการนำไปกำหนดและปรับปรุงนโยบาย การมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องจึงไม่เพียงบอกเราว่าการพัฒนาเมืองต้องใจกว้าง หากยังสะท้อนความจริงใจที่หน่วยราขการมีต่อการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาขนด้วย กรุงเทพฯ จะพัฒนาด้านอื่นไม่ได้เลย หากไม่เปิดใจรับฟัง โอบรับความเห็น และการตัดสินใจของคนกรุงเทพฯ หรืออย่างน้อยก็จากเครือข่ายภาคสังคมที่ทำงานคลุกฝุ่นกับปัญหามาอย่างยาวนาน
Comments