ในช่วงสภาพอากาศที่เย็นลงสลับกับร้อนบ้างเล็กน้อยในบางช่วง ลักษระเช่นนี้ทำให้สภาพอากาศนิ่งและปิด ซึ่งส่งผลต่อการระบายถ่ายเทของอากาศที่ไม่ค่อยดีนัก และยังส่งผลกระทบต่อฝุ่น PM2.5 ด้วย อย่างไรก็ดี ในปลายเดือนมกราคม 2566 นี้จะเห็นว่า กทม. ได้ดำเนินการในหลายด้านและหลายพื้นที่เพื่อลดผลกระทบจากฝุ่นละออง PM2.5
อย่างเช่นการดูดฝุ่นริมถนนหรือการฉีดพ่นน้ำล้างตามใบไม้ ตามถนนผิวจราจรทั้งสายหลักและสายรอง ตามทางเดินเท้าต่าง ๆ รวมทั้งบริเวณเชิงสะพานเป็นประจำทุกวัน เพื่อเพิ่มความชื้นและลดฝุ่นละอองในอากาศ อย่างเช่นในเขตบางพลัด เขตพญาไท เขตหนองแขม เขตวัฒนา เขตประเวศ เขตห้วยขวาง เขตราษฎร์บูรณะ เขตทวีวัฒนา เป็นต้น รวมทั้งการขอความร่วมมือประชาชนงดเผาขยะ หญ้า และวัสดุอื่น ๆ
และนอกจากนี้ ยังขอความร่วมมือไปยังผู้ดูแลพื้นที่ก่อสร้างต่าง ๆ ได้ช่วยกันควบคุมและลดปริมาณของฝุ่นละอองอีกด้วย
ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อวันที่ 27 ม.ค. ที่ผ่านมา ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ยังได้กล่าวถึงสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ว่า จากการพยากรณ์ในวันที่ 26-27 ม.ค. 66 จะมีค่าฝุ่นสูงขึ้น เนื่องจากอากาศที่กดลงและมีลมต่ำ แต่คาดว่าในวันที่ 28-29 ม.ค. 66 สถานการณ์ฝุ่นจะคลี่คลาย
โดยช่วงนี้ กทม. ได้ขอความร่วมมือไปยังจังหวัดข้างเคียงให้คุมเข้มแหล่งกำเนิดฝุ่น รวมทั้งยังร่วมกับบริษัทกว่า 30 แห่งให้ทำงานแบบ Work from Home เพื่อลดปริมาณฝุ่นอีกด้วย ขณะที่วันที่ 28 ม.ค. นี้ กทม. ยังได้จัดกิจกรรม Action Day PM2.5 BKK “กทม. ชวนภาคีขยับเรื่อง ฝุ่นเมือง ด้วยกัน” โดยร่วมกับภาคีเครือข่ายภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมหลายหน่วยงาน เพื่อร่วมกันแสดงพลังแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 รณรงค์ให้ทุกภาคส่วนเกิดความตระหนักถึงปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ซึ่งถือเป็นความร่วมมือในการเตรียมพร้อมเพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะยาว
ดูเพิ่มเติมใน
“กทม. ผนึกกำลังจังหวัดข้างเคียงคุมเข้มแหล่งกำเนิดฝุ่น พร้อมจับมือกว่า 30 บริษัท ร่วม WFH” เข้าถึงข้อมูลที่ https://pr-bangkok.com/?p=49321
.
“กทม.จับมือภาคีเครือข่าย ร่วมแก้ไข PM2.5 กับ Action Day PM2.5 BKK
.
“กทม. ชวนภาคีขยับเรื่อง ฝุ่นเมือง ด้วยกัน”” เข้าถึงข้อมูลที่ https://pr-bangkok.com/?p=50168
コメント