top of page
  • TPD

“อย่าให้รถไฟฟ้าเป็นแค่รถไฟฟ้า”


ตลอดระยะเวลาสี่ถึงห้าปีที่ผ่านมา สิ่งหนึ่งที่พบได้เห็นทั่วกรุงเทพมหานคร คือการที่ทั้งเมืองเต็มไปด้วยการก่อสร้าง “รถไฟฟ้า” อันมาพร้อมเสียงบ่นเรื่องการจราจร และเสียงคำนึงถึงความหวังว่าจะได้เห็นกรุงเทพมหานครที่มีขนส่งมวลชนเชื่อมต่อหากันได้อย่างทั่วถึงซักที


แต่ปัญหาหนึ่งที่ซ่อนเร้นอยู่โดยผู้คนไม่ได้สังเกต ก็คือการที่บรรดาสถานีรถไฟฟ้าต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่ “สร้างไปอย่างงั้น” สร้างแค่ให้คนได้ใช้งานเพียงแต่ขึ้นลงเท่านั้น สร้างความรู้สึกว่ามันมีการ “เสียเปล่า” ในเชิงพื้นที่อยู่พอสมควร


กล่าวคือ สถานีรถไฟฟ้าในกรุงเทพ ถูกสร้างขึ้นมาโดยไม่ได้มองถึงอรรถประโยชน์อื่นนอกจากการใช้ขึ้นลง ขาดการพัฒนาพื้นที่ให้มีมิติมากกว่าการใช้เป็นขนส่งมวลชน ซึ่งมันเป็นเรื่องน่าเสียดาย สถานีต่าง ๆ ไม่ว่าจะบนดิน หรือใต้ดิน กินพื้นที่อย่างมหาศาล แต่เป็นได้เพียงแค่บันไดสูงชัน ตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยวกลางแยกหรือริมถนนต่าง ๆ ทั้งที่การเวนคืนก็ได้ทำให้ตึกรามบ้านช่องบริเวณนั้นหายไปแล้ว สุดท้ายเต็มที่ก็เป็นได้แค่สวนสาธารณะกลางถนนที่คนก็ไม่รู้จะข้ามรถราไปใช้ได้ยังไง


ที่ว่ามานั้น อยากลองให้ทุกท่านไปตระเวนดูตามพื้นที่อันมีการก่อสร้างเส้นรถไฟฟ้าดู จะเห็นถึงสิ่งที่กล่าวมาข้างบนได้อย่างชัดเจน


ถ้าเช่นนั้นทำไมถึงมองว่ามันเสียเปล่า ก็อาจจะต้องขอยกตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดที่คนไทยจะนึกออกได้ นั่นก็คือ “ญี่ปุ่น”


ญี่ปุ่น เช่นมหานครโตเกียว ขึ้นขื่อว่าเต้ยที่สุดแล้วในโลก สำหรับการวางระบบรางให้เมืองทั้งเมืองเชื่อมต่อกัน แต่สิ่งหนึ่งที่คนมักจะมองข้ามไประหว่างกำลัง “เอ็นจอน” กับรถไฟฟ้าญี่ปุ่น นั่นก็คือตัวสถานี ถ้าสังเกตดี ๆ จะเห็นได้ว่า สถานีรถไฟฟ้าในโตเกียว เป็น “มากกว่าสถานี”


สถานีรถไฟฟ้าในกรุงโตเกียวมักจะถูกออกแบบให้เป็นพื้นที่ศูนย์รวมของ “ความต้องการ” ของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นในแง่การเดินทางหรือชีวิตประจำวัน นั่นก็คือนอกจากจะมีรถไฟให้ขึ้นแล้ว ยังมีร้านค้าต่าง ๆ ให้เดินด้วย


คำว่า “ร้านค้า” ไม่ได้หมายความว่าเป็นแค่ร้านสะดวกซื้อ แต่หมายถึง “ร้านค้า” จริง ๆ ตั้งแต่ขนมหวานไปจนถึงอุปกรณ์กีฬา เจอได้แม้กระทั่งร้านนวด “จัดกระดูก” และถ้าถามว่าทำไมเป็นแบบนั้น ก็ต้องบอกว่ามันทำเพื่อแก้ปัญหาบางประการ


อย่างแรกก็คือ โตเกียวมีพื้นที่ค่อนข้างแออัด ดังนั้นถ้าตรงไหนมันว่างได้ ก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ทำเลก็ดี เพราะมีคนผ่านไปผ่านมาตลอดเวลา นั่นจึงทำให้เมืองถูกยกสูง คือกิจการต่าง ๆ ก็ลอยฟ้าขึ้นไปกับรถไฟ และเมืองลงล่าง หมายถึงร้านค้าก็ลงไปอยู่ใต้ดินกับรถไฟ ดีกว่าเสียที่ไปเปล่า ๆ


อย่างที่สองก็คือ การสร้างกำไรให้กับผู้ประกอบการกิจการรถไฟ กล่าวคือ ในโตเกียวและญี่ปุ่น สถานีรถไฟบางแห่ง รถไฟบางสาย เป็นของเอกชนที่ครองสิทธิ์สัมปทาน เพื่อทำให้เกิดกำไรสูงสุด เอกชนเหล่านั้นรวมไปถึงัรฐวิสาหกิจด้านรถไฟจึงเป็นมากกว่าบริษัทเดินรถ แต่เป็นทุนพัฒนาที่ดิน และเพื่อให้เกิดการพัฒนา ก็ต้องสร้างให้พื้นที่สามารถถูกใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด การออกแบบสถานีจึงคำนึงถึงพื้นที่ร้านค้าต่าง ๆ ที่จะมีไว้เพื่อตอบสนองผู้คน ไม่ว่าจะเป็นร้านจากทุนใหญ่หรือกิจการท้องถิ่นแถวนั้น ก็จะทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนามูลค่าของที่ดินทั้งในและรอบ ๆ สถานีรถไฟ


ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจ ถ้าใครไปเที่ยวญี่ปุ่นจะเห็นได้ตั้งแต่ร้านของฝากดังประจำเมือง ไปจนถึงห้างสรรพสินค้าหรูหราในบริเวณสถานีรถไฟ ทุกอย่างที่ออกแบบมาเพื่อให้ที่ดินไม่สูญเปล่าและก่อกำไรให้ได้มากที่สุด เรียกว่า “Win – Win situation” กันไปเลย


เหตุหนึ่งที่อย่าลืมเลยก็คือว่า ทุกคนที่ใช้รถไฟฟ้ามีความต้องการอะไรซักอย่างอยู่แล้ว อาจจะหิวข้าว หิวน้ำ อยากซื้อของสดเข้าบ้าน หรือแม้กระทั่งอยากเดินดูของกินของใช้เล่น ๆ แต่ไม่อยากออกนอกเส้นทางกลับบ้าน ดังนั้นการยกทุกสิ่งอย่างมาให้ถึงสถานีรถไฟ ก็สามารถ “ล่อตาล่อใจ” ให้ผู้คนขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการจับจ่ายใช้สอยได้ ไม่มากก็น้อย


ที่สำคัญก็คือ บรรดาห้างร้านต่าง ๆ สร้างตามรถไฟ ไม่ได้เป็นเหมือนเมืองไทยที่ “ลาก” รถไฟให้ผ่าน “ห้าง”


หรือก็คือวิธีคิดที่ว่า “รางไปถึงไหน ความเจริญไปถึงนั่น” ไม่ใช่ “รางไปตามความเจริญ”


ย้อนกลับมาที่กรุงเทพมหานคร ก็บอกได้ว่ายังไม่เห็นทิศทางแบบนี้ซักเท่าไหร่กับเส้นรถไฟฟ้าที่เกิดใหม่ เพราะมันคงจะดีไม่น้อย ที่พื้นที่บริเวณทั้งในและรอบ ๆ สถานีรถไฟฟ้าของไทยจะถูกออกแบบให้กลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจขนาดย่อม ๆ มีร้านค้า มีพื้นที่กิจกรรม มีการพัฒนาที่ดิน แม้ว่าปัจจุบัน อาจจะเห็นความพยายามพัฒนาพื้นที่ในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินบางแห่ง แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร


ว่ากันง่าย ๆ นอกจากร้านค้าเล็ก ๆ น้อย ๆ แล้ว ก็ยังไม่เห็นอะไร นอกจากบันไดวกไปวนมาซับซ้อน ขึ้นยากลำบากกาย จะดีกว่าไหมที่จะสร้างตึกครอบทางขึ้นลงรถไฟฟ้าใต้ดิน มากกว่าจะปล่อยให้เป็นทางขึ้นลงตั้งโล่ง ๆ อยู่บนที่ดินขนาดใหญ่ ถ้ากำลังทรัพยากรไม่พอ การร่วมมือกับเอกชนก็ไม่เสียหายอะไร เพราะจริง ๆ แล้วขนส่งมวลชนโดยรัฐก็ไม่ได้มีหลักการไว้หากำไรอยู่แล้ว และการสร้างหน่วยทางเศรษฐกิจขึ้นมา ให้ร้านค้าได้เกิด ให้พื้นที่ทำกินสำหรับกิจการในท้องถิ่น มันส่งผลทวีคูณให้กับเมืองมากกว่าที่คิด


เชื่อว่ากว่ารถไฟฟ้าทั้งหลายจะเสร็จ ยังมีเวลาให้ผู้เกี่ยวข้องได้คิดกันใหม่ถึงการพัฒนาพื้นที่ อย่ามองวว่ารถไฟฟ้ามีมิติเพียงแค่ไว้เดินทางจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง แต่สถานีรถไฟฟ้าสามารถก่อกำไรได้โดยที่คนไม่จำเป็นต้องนั่งรถไฟฟ้าเลยก็ได้


อย่าให้การที่ไปดูงานที่โตเกียว โอซาก้า ทุกปี ๆ ต้องเสียเปล่านะท่านทั้งหลาย!

Comments


bottom of page