Voice of Bangkokians
“ห้องสมุดประชาชน”
ห้องสมุด นับว่าเป็นแหล่งความรู้ที่ง่ายและราคาถูกที่สุด เพราะหนังสือคือขุมทรัพย์ทางภูมิปัญญาแบบหนึ่งที่สามารถต่อยอดพัฒนาได้ทั้งทักษะความรู้และทักษะการอ่าน อีกทั้งยังสามารถเสริมสร้างแรงบันดาลใจได้อีกด้วย
ซึ่งโดยทั่วไป เมืองใหญ่ ๆ ทั่วโลกมักจะมีห้องสมุดดี ๆ หนังสือเพียบพร้อมไว้ให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึง ให้ทุกผู้ทุกคนสามารถเข้าไปใช้บริการได้ และนอกจากหนังสือแล้วยังมีบริการสารสนเทศอื่น ๆ ไว้บริการด้วย แต่สิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งที่เราเห็นได้ทั่วไปในกรุงเทพมหานคร
แน่นอนว่าโดยปกติของคนไทย มักจะเน้นไปที่การซื้อหาหนังสือมากกว่าที่จะเข้าห้องสมุดกัน แต่ในแง่หนึ่งก็ต้องยอมรับว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่หนังสือ “แพง” เมื่อเทียบกับค่าครองชีพ ตามแผงหนังสือทั่วไปนั้น การหาหนังสือในราคาหลักตามกว่าร้อยบาทไม่ใช่เรื่องง่าย และราคานับร้อยบาทเมื่อเทียบกับค่าครองชีพก็สูงเกินไปมากที่เดียว กลับกันในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น หนังสือราคาถูกกว่าค่าอาหารประจำมื้อเดียวเสียอีก
นั่นจึงทำให้สังคมรักการอ่านของไทยดูขาด ๆ เกิน ๆ หนังสือเป็นเรื่องของคนมีอันจะกินประมาณหนึ่งจะเข้าถึงได้
ทางออกที่จะช่วยเหลือเรื่องให้คนเข้าถึงความรู้จากหนังสือก็อย่างที่บอกไปข้างต้น คือการมีห้องสมุดให้คนสามารถที่จะเข้าไปค้นหาความรู้ต่าง ๆ หรือพักผ่อนหย่อนใจผ่านตัวอักษรได้ฟรี หรือเต็มที่ก็เสียค่าใช้จ่ายเป็นสมาชิกห้องสมุดต่าง ๆ เพียงปีละไม่กี่บาท
อย่างไรก็ตาม “ห้องสมุดประชาชน” ในมหานครที่มี 50 เขต ประชากรมากกว่า 5 ล้านคน ของกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของราชอาณาจักรไทย มีน้อยเหลือเกิน
ทายกันได้ไหม ว่าห้องสมุดเอาแค่สังกัดกรุงเทพมหานครเองมีจำนวนเท่าไหร่? ตัวเลขห้องสมุดที่อยู่ในการดูแลของกทม.เองมีเพียงแค่ “36” แห่งเท่านั้น
ซึ่งแน่นอนว่า ดูเหมือนจะน้อยเกินไปมากเลยทีเดียว
นี่เป็นปัญหาที่หลายคนมองข้ามไปและไม่ค่อยถูกพูดถึงมากเท่าไหร่นัก เมื่อตัดห้องสมุดเอกชน ห้องสมุดสถานศึกษา และห้องสมุดของสถานที่ราชการต่าง ๆ ที่กระจายอยู่ทั่วกรุงเทพไปแล้ว เหลือห้องสมุดที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างเสรีเพียงแค่ 36 แห่ง
สมมติว่าหารเลขเล่น ๆ ก็จะได้ว่า ด้วยประชากรประมาณ 5 ล้านคน ห้องสมุดแต่ละแห่งต้องรองรับประชากรถึง 140,000 คน โดยประมาณ ซึ่งมันจะไปเพียงพอที่ไหน
ที่สำคัญคือ ห้องสมุดที่มีอยู่เดิมนั้นก็ไม่ได้ตอบโจทย์ซักเท่าไหร่ แน่ละว่าบางพื้นที่อาจจะมีหนังสือครบถ้วน บริหารดี ที่ตั้งสะดวก แต่บางพื้นที่ก็เหมือนตั้งไปให้มันมีไปงั้น ๆ (อีกแล้ว) ทำตามคำสั่งมาก็ตั้งมันดื้อ ๆ ไม่ได้ใส่ใจว่ามันตอบสนองประชาชนได้มากน้อยแค่ไหน
ยกตัวอย่างห้องสมุดประชาชนเสรีไทย ซึ่งสวยงามมาก มีหนังสือดี ๆ มากมาย แถมยังเป็นพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับขบวนการเสรีไทยไปในตัว สมบูรณ์แบบขนาดนี้ มาตกม้าตายเพราะว่าตั้งอยู่ห่างไกล เดินทางลำบาก ซ่อนตัวอยู่ในสวนสาธารณะที่ไปยาก แล้วแบบนี้ใครจะเขาไปใช้บริการ
ดังนั้น นโยบายและแนวทางการพัฒนาเมืองของกรุงเทพมหานครอาจจะต้องวกกลับมามองเรื่องนี้ให้มากขึ้นกว่าเดิมเสียหน่อย ซึ่งก็เข้าใจได้ว่าห้องสมุดเป็นหนึ่งในเรื่องที่บริหารจัดการยาก ทั้งเรื่องของหนังสือ บรรณารักษ์ ไปจนถึงสถานที่ แต่เชื่อว่ามันก็ไม่ได้ยากเกินความพยายาม
แม้ใครจะพูดว่า ความรู้อยู่เพียงปลายนิ้วสัมผัส กดหาเอาจากอินเทอร์เน็ตก็ได้ แต่ก็อย่าลืมว่าความรู้จากอินเทอร์เน็ตก็เอามาจากหนังสือนั่นแหละ อีกทั้งหนังสือมันยังเข้าถึงได้ง่ายกว่า ไม่ต้องมีไฟ มีอินเทอร์เน็ต ขอแค่เปิดหน้ากระดาษก็พอแล้ว นอกจากนี้ มันยังเป็นส่วนสำคัญในเรื่องพัฒนาการอ่าน เสริมทักษะให้ผู้คนได้ “รู้หนังสือ”
หนังสือสามารถให้ความรู้ ให้ความบันเทิงแก่ทุกคนอย่างไม่น่าเชื่อ จะยากดีมีจน ก็อ่านได้หมด ไม่แบ่งชนชั้นใด ๆ
ก็ได้แต่หวังว่าเสียงเล็ก ๆ ตรงนี้จะส่งไปถึงผู้ดำเนินนโยบายให้กลับมาทบทวนเรื่องนี้มากขึ้น เพิ่มจำนวนห้องสมุดให้ทุกคนได้เข้าถึง เพิ่มโอกาสให้กับผู้ที่ด้อยโอกาสได้เข้าถึงความรู้ อันสลักสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนากรุงเทพต่อไป
หวังว่าวันนั้นจะมาถึงไม่นานเกินรอ
Comments