top of page
  • TPD

มารู้จักสภากรุงเทพฯ



สภากรุงเทพมหานคร มีประวัติความเป็นมาอย่างไร และทำอะไรบ้าง? วันนี้ทีม Bangkok Together BKK พาไปสำรวจตรวจตราสภากรุงเทพฯ กัน เราคงต้องเริ่มจากข้อมูลที่ว่า สภากรุงเทพฯ เป็นองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ มีอำนาจหน้าที่ พิจารณาออกข้อบัญญัติ พิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี เสนอญัตติ ตั้งกระทู้ถาม ตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร


ทั้งนี้ สภากรุงเทพฯ ชุดแรก ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 335 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ได้กำหนดให้สภากรุงเทพฯ ประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งเขตละหนึ่งคน และผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มาจากการแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีมหาดไทย โดยสภากรุงเทพฯ ชุดแรกประกอบด้วยสมาชิก 46 คน มีพระยามไหสวรรย์ เป็นประธานสภาคนแรก


จนกระทั้งปี 2528 พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ได้เปลี่ยนแปลงที่มาของสมาชิกสภากรุงเทพฯ ให้มาจากการเลือกตั้งโดยทั้งหมด เขตละ 1 คน มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี และจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 สภากรุงเทพฯ ชุดปัจจุบันประกอบด้วย สมาชิก 50 คน โดยมีนายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ดำรงตำแหน่งประธานสภากรุงเทพฯ และมีนางชญาดา วิภัติภูมิประเทศ และนายอำนาจ ปานเผือก เป็นรองประธานสภากรุงเทพฯ คนที่ 1 และคนที่ 2 ตามลำดับ


ครั้นเมื่อได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานสภากรุงเทพฯ นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ได้ออกสารเผยแพร่ทางเว็บไซต์สภากรุงเทพฯ ความตอนหนึ่งว่า "นับจากนี้ สภากรุงเทพมหานครภายใต้การนำของผมจะผลักดันการบูรณาการสื่อประชาสัมพันธ์ Social Network ทุกรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านทาง website ของสภากรุงเทพมหานคร https://bmc.go.th เป็นสื่อกลางในการสื่อสารกับประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร และเพื่อการติดต่อประสานงานระหว่างสภากรุงเทพมหานคร กับสภาท้องถิ่นในภูมิภาคเอเชีย และสภาเมืองต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งนับเป็น “การเปิดศักราชใหม่ของสภา กทม. ปี 2022”


การทำงานของสภากรุงเทพฯ มีคณะกรรมการประจำสภา ทั้งสิ้น 12 คณะ มีวาระการทำงานคราวละ 2 ปี ประกอบด้วย 1. คณะกรรมการกิจการสภากรุงเทพมหานคร 2. คณะกรรมการตรวจรายงานการประชุม 3. คณะกรรมการการศึกษา 4. คณะกรรมการการโยธาและผังเมือง 5. คณะกรรมการการสาธารณสุข 6. คณะกรรมการการรักษาความสะอาดและสิ่งแวดล้อม 7. คณะกรรมการการเศรษฐกิจ การเงิน การคลังและการงบประมาณ 8. คณะกรรมการการปกครองและรักษาความสงบเรียบร้อย 9. คณะกรรมการการพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม 10. คณะกรรมการการจราจรและการขนส่ง 11. คณะกรรมการการระบายน้ำ 12. คณะกรรมการการวัฒนธรรม การท่องเที่ยวและการกีฬา


การทำงานของสภากรุงเทพฯ ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัตินั้น นอกจากจะทำหน้าที่ออกข้อบัญญัติ และตรวจสอบถ่วงดุลการทำงานของฝ่ายบริหารแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญในการพิจารณาร่างข้อบัญญัติงบประมาณ ซึ่งถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ของการดำเนินนโยบายของฝ่ายบริหาร การมีกลไกตรวจสอบความพร้อมรับผิดที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนต่อฝ่ายบริหาร (vertical accountability) แม้แต่ในระดับท้องถิ่น ก็ถือเป็นเครื่องรับประกันอย่างหนึ่งของการบริหารงานภาครัฐที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และที่สำคัญก็คือ ถ้าถือว่าประชาธิปไตยเริ่มต้นที่ท้องถิ่นแล้ว การมีกลไกตรวจสอบถ่วงดุลในระดับท้องถิ่นก็จะกลายเป็นรากฐานของประชาธิปไตยระดับชาติที่มั่นคง


อ้างอิง

สภากรุงเทพมหานคร-Bangkok Metropolitan Council (https://bmc.go.th/)


3 views0 comments

Commentaires


bottom of page