top of page
  • TPD

พื้นที่สีเขียว ปัญหาโลกแตกของกรุงเทพฯ


พื้นที่สีเขียว ปัญหาโลกแตกของกรุงเทพฯ



“พื้นที่สีเขียว” เป็นปัญหาใหญ่ของเมืองต่างๆทั่วโลกที่คลาคล่ำหนาแน่นไปด้วยผู้คน องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ถึงกับกำหนดสัดส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรว่าควรมีอย่างน้อย 9 ตร.ม.ต่อคน และในระดับย่านควรมีพื้นที่สีเขียวกระจายตัวทุกๆ 300-500 เมตร เช่นเดียวกับกรุงเทพที่มีประชากรตามสำเนาทะเบียนบ้านราว 5.5 ล้านคน และเมื่อรวมประชากรแฝงเข้าไปด้วยก็มีมากกว่า 10 ล้านคน ด้วยมาตรฐานของ who กรุงเทพถึงควรมีพื้นที่สีเขียวอย่างน้อย 90 ล้าน ตร.ม. หรือคิดให้เห็นภาพว่าประมาณสนามฟุตบอลมาตรฐาน 12,605 สนาม แต่ด้วยประชากรที่แออัดและขาดการวางผังเมือง การสร้างพื้นที่สีเขียว จึงกลายเป็นปัญหาโลกแตกของกรุงเทพฯ อย่างเลี่ยงไม่ได้


ในปี 2564 กรุงเทพเคยประกาศว่าสามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวจาก 5.97 ตร.ม.ต่อคนในปี 2559 มาเป็น 7.34 ตร.ม.ต่อคนในปี 2564 นั่นเท่ากับว่าพื้นที่สีเขียวเฉลี่ยต่อคนห่างจากเกณฑ์มาตรฐานของ WHO เพียง 1.66 ตร.ม.ต่อคนเท่านั้น [1] หรือเทียบกับสนามฟุตบอล 10,280 สนาม ซึ่งดูเผินๆ เหมือนจะเป็นทิศทางที่ดี


ปัญหาอยู่ตรงที่ว่าการคำนวนนี้นับรวมทุกทุกพื้นที่สีเขียว ทั้งเกาะกลางถนน พื้นที่ที่ผู้คนข้ามไปใช้ได้ยาก พื้นที่ที่เต็มไปด้วยควันพิษจากการจราจร พื้นที่ที่มีขนาดเล็กเกินไป รวมถึงพื้นที่รกร้างจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าไปใช้งานได้ เหล่านี้ล้วนอยู่นอกเหนือเกณฑ์ของ WHO ทั้งสิ้น ซ้ำร้ายกว่านั้น จำนวนประชากรที่นำมาคำนวณก็เป็นแต่เพียงประชากรในสำเนาทะเบียนบ้านเพียง 5.5 ล้านคน ไม่ใช่ 10 ล้านคนที่รวมประชากรแฝงด้วย ปริมาณค่าเฉลี่ยพื้นที่สีเขียวและการกระจายตัวในแต่ละเขตก็เหลื่อมล้ำไม่เท่ากัน เช่น เขตปทุมวัน มีค่าเฉลี่ยพื้นที่สีเขียว 13.18 ตร.ม.ต่อคน แต่เขตพระโขนง เขตบางกะปิ เขตบางเขน เขตลาดพร้าว และเขตลาดกระบังกลับมีค่าเฉลี่ยต่ำกว่า 3 ตร.ม.ต่อคน [1]


อันที่จริงแล้ว สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพฯ ได้จัดจำแนกพื้นที่สีเขียวออกเป็น 6 ประเภท [2] ประกอบด้วย 1) สวนสาธารณะ ที่คนสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ 2) พื้นที่อัตถประโยชน์ เป็นพื้นที่สีเขียวส่วนบุคคล สถาบันการศึกษา หน่วยราชการ ศาสนสถาน 3) พื้นที่ที่อยู่ในรูปสาธารณูปการ เช่น พื้นที่สีเขียวรอบระบบบำบัดน้ำเสีย พื้นที่สีเขียวริมน้ำ ริมถนน ลักษณะแนวยาว 4) พื้นที่สีเขียวเศรษฐกิจชุมชน เช่น พื้นที่เกษตรกรรม 5) พื้นที่สีเขียวธรรมชาติ เช่น ป่า พื้นที่ชุ่มน้ำ และ 6) พื้นที่รกร้าง


"พื้นที่รกร้าง" มีความสำคัญเพราะสามารถเปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะ พื้นที่อัตถประโยชน์ หรือแม้แต่พื้นที่สีเขียวเศรษฐกิจชุมชนได้ ยศพล บุญสม สถาปนิกและผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม we!park เล่าถึงประเด็นนี้ว่า “ปัจจุบันมีพื้นที่รกร้างเต็มไปหมด หลังกลับมาเก็บภาษีที่ดินเต็มรูปแบบ เจ้าของที่ดินแห่มาเปลี่ยนพื้นที่รกร้างเป็นสวนเกษตร ปลูกกล้วย เป็นความย้อนแย้งจากช่องว่างทางกฎหมาย เชิงปฏิบัติผู้ว่าฯ กทม.ประกาศสวน 15 นาที ปลูกต้นไม้ล้านต้น สิ่งที่เกิดขึ้นคนเร่งรัดทำพื้นที่สีเขียว แต่หากรับนโยบาย ทำโดยไม่มีแนวทางชัดเจน มองแต่ตัวเลข จะไม่ยั่งยืน พื้นที่สีเขียวสาธารณะที่คนใช้ประโยชน์ได้ มีมิติระบบนิเวศโดยรวม จัดการภัยพิบัติ ลดอุณหภูมิเมือง ฉะนั้น การลงทุนพื้นที่สีเขียวหนึ่งแห่งต้องมองรอบด้าน เพื่อให้ทันสถานการณ์ และตอบโจทย์ จำเป็นต้องสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมการพูดคุยของผู้ใช้ประโยชน์ บริบทสังคมในพื้นที่นั้นๆ บริหารจัดการและดูแลรักษาที่ดี” [2]


ที่สำคัญ ยศพลเปิดเผยกับ City Together BKK ว่า นอกเหนือจากพื้นที่เอกชนแล้ว ยังมีพื้นที่ประเภทของหน่วยงานรัฐอื่นซึ่งกรุงเทพฯ ไม่ได้ดูแลที่ดินเหล่านั้น จึงต้อง “สร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐกับรัฐที่จะทำงานร่วมกัน เพราะว่าก็ต้องเข้าใจว่าหน่วยงานที่ถือครองที่ดิน เขาไม่ได้เป็นพันธกิจโดยตรงที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวสาธารณะเหล่านี้ แต่ถ้า กทม. สามารถที่จะเชื่อมความเชี่ยวชาญ เชื่อมองค์ความรู้ เป็นเจ้าภาพในการที่จะไปประสานที่ดินเหล่านั้น ก็จะต้องทำให้หน่วยงานอื่นเห็น ร่วมมือไปด้วยกัน” อันจะส่งผลให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่ต่อไปในอนาคต


การเพิ่มพื้นที่สีเขียวทั้งเชิงปริมาณและการกระจายตัวยังเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายของกรุงเทพฯ ไม่ใช่เพียงเพราะว่าต้องการทำให้ได้ตามมาตรฐานของ WHO แต่หากสามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น ก็ย่อมหมายถึงคนกรุงเทพมีพื้นที่ในการออกกำลังกาย สูดอากาศบริสุทธิ์ หย่อนใจตามอัธยาศัย และทำกิจกรรมนานาชนิด อันเป็นตัวชี้วัดหนึ่งของความอยู่ดีมีสุขของคนเมือง ความมุ่งมั่นของผู้บริหารอย่างเดียวคงไม่พอ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ภายใต้กรอบความเข้าใจและการดำเนินนโยบายไปในทิศทางเดียวกัน


[1] "เบื้องหลังปัญหาพื้นที่สีเขียวในเมืองกรุง ที่ กทม.ไม่ได้บอก," The Matter (14 พฤษภาคม 2565). เข้าถึงจาก <https://thematter.co/.../problem-of-green-space-in.../174780>. เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2565.

[2] "‘พื้นที่สีเขียว’กทม.ตามมาตรฐานโลก ทำได้หรือขายฝัน," ไทยโพสต์ (14 สิงหาคม 2565). เข้าถึงจาก <https://www.thaipost.net/environment-news/200120/>. เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2565.


Comments


bottom of page