ปลูกล้านต้นแล้วก็ต้องดูแล สร้างงานสร้างอาชีพ
18 ธ.ค. 65 ที่ผ่านมา ชัชชาติ สิทธิพันธิ์ ผู้ว่าฯ กทม. เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการอบรมรุกขกรขั้นสูงผ่านการฝึกเชิงปฏิบัติการการแข่งขัน Thailand Branch Out 2022 และการฝึกอบรม City Park Volunteer อาสาสมัครดูแลต้นไม้ร่วมกับกรุงเทพมหานคร ณ บริเวณเวทีกลาง สวนป่าเบญจกิติ เขตคลองเตย
ทั้งนี้ ผู้ว่าฯ กล่าวว่า กทม.ตั้งใจอยากจะให้มีรุกขกรที่มีความสามารถอยู่ทุกเขต เพราะต้นไม้เป็นทรัพย์สมบัติของเมืองที่มีคุณค่า การจะตัดแต่ละครั้งต้องถามรุกขกรว่าตัดอย่างไรต้นไม้จึงอยู่รอด ถ้าตัดเยอะไปต้นไม้ก็อยู่ไม่ได้ ตัดน้อยไปก็ไม่ได้แก้ปัญหาต้นไม้หักสร้างความเสียหาย สำหรับต้นไม้เราต้องดูแลให้ดีเหมือนเป็นเพื่อนรักของเรา กทม.ตั้งใจจะแก้ปัญหาเรื่องการตัดแต่งต้นไม้ให้ดีที่สุด โดยพยายามจะเพิ่มรุกขกร และให้มีการอบรมกับทางสมาคมรุกขกรรมไทย ให้เป็นความร่วมมือระหว่างกัน กทม. มีสวนสาธารณะที่อยากจะใช้เป็นพื้นที่ในการฝึกหลายๆ แห่ง ตอนนี้มีโครงการปลูกต้นไม้ล้านต้น มีคนมาร่วมแล้ว 1 ล้าน 6 แสนต้น ปลูกไปแล้ว 2 แสนต้น ซึ่งถ้าปลูกแล้วต่อไปก็จำเป็นที่จะต้องมีรุกขกรดูแล และเชื่อว่าในอนาคต เรื่องต้นไม้ เรื่องพื้นที่สีเขียว ก็จะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญลำดับต้นๆ รุกขกรก็จะเป็นอาชีพที่มีคนสนใจและมีตลาดงานรองรับมากยิ่งขึ้น
สำหรับ นโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้น เป็นหนึ่งในนโยาย 216 ข้อ ข้อผู้ว่าฯ ชัชชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มร่มเงาและพื้นที่สีเขียวในเมือง พร้อมๆ กับสร้างกำแพงกรองฝุ่นจากต้นไม้ในพื้นที่ประชาชนหนาแน่น โดยวางแผนที่จะปลูก 400 ต้น/เขต/สัปดาห์ เมื่อครบ 4 ปี จึงจะครบ 1 ล้านต้นพอดี ในเว็ปไซต์ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ - นโยบาย (https://www.chadchart.com/policy/6215eef94e43cd8b4760bc16) ระบุว่า การปลูกต้นไม้แบ่งเป็น 5 แนวทาง 1) ปลูกเพื่อลดฝุ่นและมลพิษ โดยเฉพาะในพื้นที่สถานศึกษาและมีประชาชนหนาแน่น 2) ปลูกให้เกิดร่มเงาในการใช้ชีวิต ในพื้นที่ที่มีกิจกรรมกลางแจ้งของประชาชนหนาแน่น 3) ปลูกเพื่อส่งเสริมความหลากหลายของระบบนิเวศน์เมือง โดยคัดเลือกพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมกับสภาพดิน สภาพอากาศ และให้การปลูกในพื้นที่หนึ่งๆ ของแต่ละเขต 4) ปลูกให้ชุมชนมีรายได้ โดยการสนับสนุนให้ชุมชนเพาะกล้าไม้ และกทม.เป็นผู้รับซื้อ และ 5) ปลูกให้คนและต้นไม้โตไปพร้อมๆ กัน โดยแจกต้นไม้ให้ประชาชนร่วมกันปลูกทุกวันอาทิตย์
สำหรับ อาชีพ “รุขกร” คือ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตัดแต่งดูแลต้นไม้ใหญ่อย่างถูกวิธี ซึ่งเริ่มเป็นที่รู้จักในประเทศไทยมากขึ้น แต่ยังไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับความต้องการปัจจุบัน เพราะต้องผ่านการฝึกอบรมและได้รับการรับรองโดยสมาคมรุกขกรรมไทย การอบรมเชิงปฏิบัติการในด้านต่างๆ อาทิ การกู้ภัยทางอากาศในงานรุกขกรรม การเก็บข้อมูลต้นไม้ใหญ่และพื้นที่ร่มไม้อย่างเป็นระบบ และการประเมินสุขภาพความเสี่ยงของต้นไม้ใหญ่อย่างเป็นระบบ เป็นต้น ปัจจุบันมีผู้ผ่านการฝึกอบรมประมาณ 50 คน ในจำนวนนี้ มีรุกขกรจากหน่วยงานต่าง ๆ ของกรุงเทพฯ เพียง 5 คน จึงได้จัดโครงการอบรมรุกขกรขั้นสูงผ่านการฝึกเชิงปฏิบัติการการแข่งขัน Thailand Branch Out 2022 และการฝึกอบรม City Park Volunteer อาสาสมัครดูแลต้นไม้ร่วมกับ กทม. ระหว่างวันที่ 16-18 ธันวาคม 2565
อ่านเพิ่มเติมใน https://pr-bangkok.com/?p=25120
Коментарі