หลายคนน่าจะคุ้นเคยกับคำว่า “พื้นที่สีเขียว” กันมาบ้าง แล้วนึกภาพไปถึงพื้นที่เขียวๆ มีความเป็นธรรมชาติ ที่มีต้นไม้ ใบหญ้าปกคลุม ทั้งไม้ยืนต้นไม้ล้มลุก อาจจะเป็นสวนในบ้าน หรือสวนสาธารณะ ก็ไม่ผิดอะไร ถ้าอยู่ในเมืองก็ต้องเปรียบว่าเป็นออกซิเจนของเมือง ส่วนอีกคำหนึ่ง คือ “พื้นที่สาธารณะ” เป็น พื้นที่เปิดที่ใครจะเข้าไปใช้สอยประโยชน์ก็ได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย อาจเป็นถนนหนทาง สวนสาธารณะ หรือแม้แต่พลาซ่า และลานกิจกรรมต่างๆ ทีม City Together BKK ได้มีโอกาสพูดคุยกับยศพล บุญสม สถาปนิกผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม we!park ที่กำลังขับเคลื่อน มีส่วนร่วมกับกรุงเทพฯ อย่างแข็งขันในการผลักดันนโยบาย “พื้นที่สาธารณะสีเขียว” ซึ่งหลายๆ เมืองกำลังพูดถึง
“พื้นที่ที่ทุกคนเข้าไปใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่สาธารณะได้เป็นพื้นที่สีเขียวด้วยในตัวเพราะว่าจริงๆก็จะเกิดประโยชน์ทั้งผู้คนและต่อสิ่งแวดล้อม อันนี้ก็คือสิ่งที่เราเองหรือเมืองก็พยายามขับเคลื่อนอยู่เพื่อทำให้พื้นที่สาธารณะสีเขียวมีปริมาณทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพแล้วก็เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น” นั่นคือความหมายของ “พื้นที่สาธารณะสีเขียว” ที่รวมเอาทั้ง “พื้นที่สีเขียว” และ “พื้นที่สาธารณะ” เข้าด้วยกัน
ตั้งแต่ผู้บริหารกรุงเทพฯ ขุดใหม่เข้ามา ก็มีโนบายบายที่สอดคล้องกับการทำงานของกลุ่มที่ขับเคลื่อนประเด็น พื้นที่สาธารณะสีเขียวมาก่อนหน้านั้นแล้ว แต่ที่สำคัญ คือนโยบายของผู้ว่าฯ ขัชชาติ สิทธิพันธุ์ 3 เรื่อง คือ 1) สวน 15 นาทีทั่วกรุง ซึ่งต้องเพิ่มจำนวนพื้นที่สีเขียวทั้งในแง่ของจำนวนสัดส่วนต่อประชากรกรุงเทพฯ และในแง่การกระจายตัวให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ 2) การเปลี่ยนที่ดินรกร้าง ที่ดินว่างเปล่าของเอกชนมาเป็นพื้นที่สาธารณะสีเขียว และ 3) ปลูกต้นไม่ล้านต้น โดยการเพิ่มปริมาณต้นไม้ให้ปกคลุมทั่วเมืองมากขึ้น
เป็นที่ชัดเจนว่านโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้นมีความคืบหน้าและมองเห็นเป็นรูปธรรมมากที่สุด เพราะเป็นนโยบายที่ทำได้ในทันที มีความซับซ้อนไม่เท่านโยบายสวน 15 นาทีทั่วกรุง และ การเปลี่ยนพื้นที่รกร้างให้เป็นพื้นที่สาธารณะสีเขียว จึงสามารถได้รับความร่วมมือกับเอกชนค่อนข้างมากที่จะลงพื้นที่ไปปลุกต้นไม้ อย่างไรก็ตาม ทศพล ชวนมองไปในรายละเอียด ว่าการปลูกต้นไม้ไม่ได้จบลงแค่การหย่อนกล้าลงดิน
“ถ้ามองเผินๆ ก็ดูไม่ซับซ้อนมาก ก็แค่ปลูกต้นไม้เอกชนมา ฉันจะปลูกล้านต้นแสนต้นก็แล้วแต่ แต่ถ้าลงรายละเอียดของนโยบายมันไม่ง่ายอย่างที่คิด หมายถึงว่ามันอาจจะไม่ได้ง่ายอย่างที่ทุกคนเข้าใจว่าปลูกต้นไม้แล้วจบแต่มันไม่จบ คือจริงๆ มันก็สะท้อนให้เห็นว่าปัจจุบันมันก็มีปัญหา เช่น ไปปลูกที่ที่ไม่ควรปลูก หรือปลูกในที่สวนสาธารณะซึ่งมันก็มีต้นไม้มากอยู่แล้ว แล้วไปปลูกทำไม แล้วต้นไม้ที่ปลูกไปใครจะดูแล หรือพันธุ์ไม้แบบไหนที่ควรปลูก”
สิ่งสำคัญ คือ “คู่มือและข้อมูล” ทางกลุ่มและองค์กรภาคประชาสังคมจึงพยายามช่วยในการจัดทำคู่มือต้นไม้ในการกำกับ พันธุ์ไม้ที่เหมาะสมสอดคล้องกับพูมิอากาศ รวมถึงการคำนึงถึงว่าพันธุ์ไม้เหล่านั้นช่วยดูดซับฝุ่นมลพิษหรือไม่ เป็นแหล่งอาศัยของแมลง หรือช่วยลดอุณหภูมิความร้อนหรือไม่ รวมถึงพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกแต่ละพันธุ์ ความต้องการมากน้อยที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ เหล่านี้ล้วนต้องการข้อมูลในการขับเคลื่อนสูง เช่น ข้อมูลพื้นที่ว่าง ข้อมูลการมอนิเตอร์ต้นไม้ที่ปลูกไปแล้ว เป็นต้น
ที่น่าสนใจ ก็คือการร่วมมือกับหน่วยงาน องค์กรที่หลากหลาย “พื้นที่ในกำกับดูแลของกรุงเทพมหานครก็มีจำกัด มันก็จะมีพื้นที่อื่นๆ เพราะฉะนั้นเราจะหาพื้นที่ไหนในการปลูก เพราะฉะนั้นพื้นที่ของหน่วยงานอื่น การทางพิเศษ การรถไฟ พื้นที่วัด พื้นที่เอกชน พื้นที่เหล่านี้นั่นก็คือสิ่งที่เป็นความท้าทายในระยะถัดไป”
ปลูกแล้วใครจะดูแล?
ปัจจุบันจำนวนต้นไม้ปลูกใหม่เกินเป้าหมายนโยบายไปแล้ว แต่ปัญหาที่สำคัญกว่านั้นก็คือการดูแลต้นไม้ให้เติบโตอย่างยั่งยืน นั่นคือปัญหาที่ว่าใครจะเป็นผู้ดูแล หากให้ กทม. ดูแลแต่ฝ่ายเดียว ก็ไม่ต่างจากการปลูกแล้วจบ แต่หากมีคนในชุมชนละแวกใกล้เคียงเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแล มีงบประมาณจัดสรรกระตุ้นก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกนโยบายที่เข้าท่าไม่น้อย ทศพล ทิ้งประเด็นชวนคิดต่อว่าหากคิดให้ไกลไปกว่านั้น นโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้น จะไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับชุมชนได้หรือไม่ เช่น ทำให้ขุมชนสามารถเพาะกล้าไม้ซัพพลายความต้องการในการปลูก ซึ่งจะทำให้ขุมชนไม่ได้มีส่วมร่วมกับการปลูกเท่านั้น แต่ยังช่วยรักษาดูแล สร้างงานสร้างอาชีพให้นโยบายยั่งยืนแบบครบวงจร
ใครที่คิดว่า “ปลูกต้นไม้ล้านต้น” เป็นของง่ายๆ มาถึงตรงนี้ City Together BKK ชวนให้มองอีกมุมว่ามันไม่หมูอย่างที่คิด โจทย์ของกรุงเทพฯ มีมากกว่าหาคนมาปลูก หาเอกชนมาร่วม แต่ต้องวางแผนให้ครอบคลุมต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพราะต้นไม้ก็มีชีวิต ถ้าไม่รักษาดูแลอย่างถูกวิธี คัดสรรพืชพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพอากาศ สภาพพื้นที่ จะปลูกมากแค่ไหนก็แห้งเหี่ยวเฉาตาย กลับกัน ถ้ามีคู่มือและข้อมูลที่แม่นยำ มีคนทำงานที่เข้าใจ จะแสนต้นล้านต้น ดอกผลก็งอกงาม
Comments