วันที่ 29 ม.ค. ที่ผ่านมา รองผู้ว่าฯ ทวิดา เป็นวิทยากรบรรยายหัวข้อ “การบริหารจัดการสาธารณภัยและภัยพิบัติ” แก่ผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรนักบริหารมหานครระดับสูง รุ่นที่ 19 โดยได้บรรยายถึงสภาวการณ์ในปัจจุบันและแนวโน้มของปัญหาด้านสาธารณภัยและภัยพิบัติ บทบาทหน้าที่ของกรุงเทพมหานครและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการสาธารณภัยเเละภัยพิบัติ การเตรียมการเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยพิบัติในอนาคต การจัดทำแผนที่ความเสี่ยง (Risk Map) ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและขับเคลื่อนแผนไปสู่การปฏิบัติ รวมถึงบทบาทผู้นำองค์กรในการจัดการภัยพิบัติ และปัญหาอุปสรรคในการบริหารจัดการและแนวทางแก้ไข
.
ทั้งนี้ มีบางช่วงบางตอนที่น่าสนใจ รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวว่า “การบริหารจัดการสาธารณภัยและภัยพิบัติมีหลายส่วนที่เกี่ยวข้อง งานที่สำคัญที่สุดคือพื้นที่ ต้องรู้ว่าพื้นที่ของตนมีความเสี่ยงต่อภัยพิบัติอะไรบ้าง ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติต่าง ๆ อย่างไรได้บ้าง ซึ่งเป็นงานของทุกคนไม่ใช่แค่เจ้าหน้าที่ด้านความฉุกเฉินหรือกู้ภัยเท่านั้น โดยหลายหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร นอกจากสำนักงานเขตพื้นที่แล้ว ยังมีหน่วยงานอื่นที่มีความเกี่ยวข้องกันในการทำงาน และต้องประสานความร่วมมือกันเมื่อเกิดภัย”
.
สำหรับหน่วยงานที่ต้องประสานก็เช่น สำนักพัฒนาสังคม สำนักอนามัย สำนักการแพทย์ สำนักการโยธา สำนักการระบายน้ำ หรือสำนักสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยทุก ๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีการเตรียมความพร้อมตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุสาธารณภัยหรือภัยพิบัติขึ้น และเมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้วต้องทำอย่างไร ตลอดจนหลังเกิดเหตุจะดูแลช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประสบภัยอย่างไร
.
ยิ่งไปกว่านั้น รองผู้ว่าฯ ทวิดา ยังกล่าวถึงว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้จัดทำ “แผนที่ความเสี่ยงในพื้นที่” (Bangkok Risk Map) https://bmagis.bangkok.go.th/portal/apps/sites/#/riskbkkmain ที่สามารถเข้าไปดูจุดต่าง ๆ ว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดภัยอะไรบ้าง และกำลังต้องมีการพัฒนาข้อมูลเพิ่มเติม เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับความเปราะบางทางกายภาพ ทางสังคม ระบบเตือนภัย เป็นต้น
.
สำหรับ “แผนที่ความเสี่ยงในพื้นที่” (Bangkok Risk Map) นี้ ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงทุกรูปแบบเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในหลายมิติของชีวิต ทั้งการเดินทาง การเลือกโซนที่อยู่อาศัย และการอพยพเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน โดยประกอบด้วย 5 แผนที่ย่อย ได้แก่ แผนที่เสี่ยงอุทกภัย แผนที่เสี่ยงอัคคีภัย แผนที่เสี่ยงภัยในชีวิตและทรัพย์สิน แผนที่เสี่ยงความปลอดภัยทางถนน และแผนที่เสี่ยงภัยมลพิษ (PM 2.5) ทั้งนี้ ทีมงาน City Together ได้เข้าไปทดลองใช้แผนที่ดังกล่าวดูแล้ว ถือว่ามีความสะดวกและใช้งานได้ไม่ยากเลย จึงอยากลองให้ชาว กทม. และผู้สนใจได้ทดลองใช้ประกอบการณ์ตัดสินใจต่อไป
.
ดูเพิ่มเติมใน
“รผว.ทวิดา ย้ำทุกคนต้องรู้บทบาทหน้าที่ เตรียมพร้อมและป้องกันไม่ให้เกิดสาธารณภัยและภัยพิบัติให้ได้มากที่สุด” เข้าถึงข้อมูลที่ https://pr-bangkok.com/?p=50314
Comments