เมืองที่ขยายใหญ่ขึ้นไม่ใช่แต่ในแง่ของพื้นที่ แต่องค์กรสำคัญที่สำคัญที่สุด คือการเพิ่มขึ้นของประชากรในเมือง ยิ่งประชากรเมืองเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ การจัดการเมืองก็ยิ่งยุ่งยากซับซ้อนเป็นเงาตามตัว จนบางครั้งหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบเมืองเหล่านั้นก็ไม่อาจจัดหาบริการพื้นฐานให้กับเมืองและประชากรเมืองได้อย่างเพียงพอ
ลองจิตนาการแค่มิติเดียวถึงเรื่องการจัดการขยะ ในกรุงเทพมหานคร แต่ละวันมีปริมาณขยะมากถึงวันละประมาณ 8,000 ตัน ถ้ารถเก็บขยะของ กทม. หยุดทำงานสักหนึ่งวัน ไม่อยากจะคิดเลยว่าสภาพของกรุงเทพฯ จะเป็นอย่างไร ประชากรกรุงเทพฯ ที่รวมประชากรแฝงแล้วมากเกือบ 10 ล้านคน คงเจอกับปัญหาใหญ่ในเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างไม่ต้องสงสัย การจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จึงเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้ประชากรเมืองในกรุงเทพฯ ดำเนินชีวิตอย่างราบรื่น
เราเห็นสัญญาดีเร็วๆ นี้ นโยบายส่งเสริมการจัดการขยะที่ต้นทางของกรุงเทพฯ ที่มีโครงการไม่เทรวม หรือโครงการ BKK Zero Waste โดยมุ่งเน้นรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนลดและคัดแยกขยะที่ต้นทาง (Zero waste) อย่างต่อเนื่อง ในช่วง 3 เดือนของปี 2566 ลดลงจากปีก่อน ไม่ว่าจะเป็นเดือนกุมภาพันธ์ ปริมาณขยะลดลง 200 ตัน/วัน (2.25%) เดือนมีนาคม ปริมาณขยะลดลง 272 ตัน/วัน (3%) และเดือนเมษายน ปริมาณขยะลดลง 318 ตัน/วัน (3.6%) คิดรวมๆ แล้ว ประหยัดไปได้ถึง 44.73 ล้านบาท
สำหรับปี 2565 กรุงเทพฯ กำหนดแหล่งกำเนิดขยะไว้ 6 ประเภท ได้แก่ ชุมชน สถานศึกษา อาคาร ตลาด วัดและศาสนสถาน และงานกิจกรรม/เทศกาลในพื้นที่เขต โดยมีผู้เข้าร่วมโครง 998 แห่ง และในปี 2566 เพิ่มแหล่งกำเนิดขยะเป็น 16 ประเภท ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมโครงการ 8,390 แห่ง กล่าวได้ว่ายิ่งแยกซี่ แยกละเอียด กำหนดประเภทขยะให้เฉพาะเจาจงตั้งแต่ต้นทาง ก็จะยิ่งช่วยลดปริมาณขยะลง และสำคัญไปกว่านั้นก็ยิ่งลดงบประมาณในการจัดการขยะลงไปด้วย เงินส่วนที่ลดลงนี้จึงสามารถนำไปเพิ่มงบลงทุนในด้านอื่นๆ อีก เช่น การศึกษาหรือด้านสาธารณสุข
นอกจากนั้นแล้ว กรุงเทพฯ ยังยังมีนโยบาย “ส่งขยะคืนสู่ระบบ” เพื่อแยกขยะที่มีประโยชน์กลับมาหมุนเวียนใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ขยะประเภทเศษอาหารและกิ่งไม้ใบไม้นั้นไม่ควรเทรวม ขณะที่ขยะรีไซเคิล ที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ ก็จะมีส่วนแบ่งเบาพี่ๆ ไม้กวาดทั้งหลายด้วย เรื่องขยะที่เป็นปัญหาพื้นฐานของเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ถ้าไม่ถูกจัดการอย่างดีก็มีโอกาสสร้างปัญหาได้เกินจินตนาการ แต่ถ้าจัดการอย่างเป็นระบบอย่างที่กรุงเทพฯ พยายามทำอยู่ นอกจากจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชากรด้วยแล้ว ยังช่วยเพิ่มความสะอาด ลดปัญหาสุขภาพ เพิ่มคุณภาพชีวิตของคนเมืองให้ดีขึ้นด้วย
อ้างอิง
Comments