top of page
  • TPD

คืบหน้านโยบาย “สุขภาพดี” ที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง


เมื่อวันที่ 27 ก.ย. ที่ผ่านมา ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวปาฐกถาพิเศษ ภายใต้หัวข้อ "บทบาทของเมือง (กรุงเทพฯ) ในการสร้างเมืองสุขภาวะและยืดหยุ่นด้วยหลักธรรมาภิบาล" ในการประชุมระดับภูมิภาคร่วมกับภาคีเครือข่ายหลากหลายสาขาในหัวข้อ "ธรรมาภิบาลเมืองสำหรับสุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดีในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออก" ณ โรงแรมพูลแมน คิงพาวเวอร์ เขตราชเทวี โดยมีความตอนหนึ่งว่า

.

“สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้กรุงเทพมหานครรับรู้ถึงความแตกต่างหลากหลาย รวมถึงความซับซ้อนในการบริหารจัดการ โดยเฉพาะคนยากจน คนต่างด้าว รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้าไม่ถึง ระบบบริการทางสาธารณสุข ด้วยเหตุผลเหล่านี้ กรุงเทพมหานครจึงให้ความสำคัญกับนโยบายการพัฒนาเมืองครอบคลุม เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง อย่างไรก็ตาม ระบบบริการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานครยังสามารถรองรับผู้บริการได้ร้อยละ 40-60 เท่านั้น ดังนั้น การมีเครือข่ายเพื่อความร่วมมือเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ประชาชนจึงเป็นเรื่องสำคัญ”

.

นโยบาย 9 ด้าน 9 ดีของผู้บริหาร กทม. ชุดปัจจุบัน ซึ่งรวมเอานโยบายทุกด้านไว้กว่า 200 นโยบาย โดยเป็นนโยบายเฉพาะเรื่อง “สุขภาพดี” จำนวน 34 นโยบาย โดยหัวใจหลักคือ “การดูแลสุขภาพเชิงรุกถึงย่านที่อยู่อาศัย” นั้น ปัจจุบัน (28 ก.ย. 65) จากการรายงานความคืบหน้าจาก http://policy.bangkok.go.th/ ได้มีการดำเนินการไปแล้ว 2 เรื่อง ได้แก่ Mobile Medical Unit รถสุขภาพเชิงรุก ตรวจถึงชุมชน และการยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุข เพิ่มการรักษา เพิ่มเวลา เพิ่มทรัพยากร ขณะที่มีเรื่องกำลังศึกษาอีก 3 เรื่อง ได้แก่ การส่งเสริมกลไกภาคประชาชนสุขภาพดี ผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพฯ พัฒนา 1,034 ลานกีฬา กับประชาชนและเอกชนในพื้นที่ และการขยายโครงการโรงพยาบาล 10,000 เตียง

.

ยิ่งไปกว่านั้น ย้อนกลับไปในงานแถลงข่าว “99 วัน ส่งการบ้านให้คนกรุง” รองผู้ว่าฯ ทวิดา ยังได้กล่าวว่า กทม. ได้ดำเนินการ 4 เรื่องหลัก คือ (1) พัฒนาระบบการจัดการโรคติดต่อ (โควิด-19) ได้เปิดบริการคลินิกวันเสาร์ ให้บริการฉีดวัคซีนเชิงรุก พร้อมทั้งเปิดคลินิก Long COVID ในโรงพยาบาลสังกัด กทม. 9 แห่ง (2) เปิดบริการคลินิกหลากหลายทางเพศที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 6 แห่งใน 6 กลุ่มเขตและที่โรงพยาบาลสังกัด กทม. อีก 5 แห่ง (3) เปิดให้บริการศูนย์บริการบัตรคนพิการแบบเบ็ดเสร็จ 9 แห่ง และ (4) การทำ sandbox เชื่อมรอยต่อระหว่างระบบสาธารณสุขระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ตั้งแต่ที่บ้าน

.

อย่างไรก็ดี ขณะที่อีก 99 วันต่อไป รองผู้ว่าฯ ทวิดา ยังกล่าวด้วยว่า จะมีการเพิ่มคลินิกหลากหลายทางเพศในศูนย์บริการสาธารณสุข 16 แห่ง รวมถึงเพิ่มเตียงพักรอสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินในศูนย์บริการสาธารณสุข กลุ่มเขตละ 1 แห่ง พร้อมทั้งเชื่อมต่อและขยายบริการศูนย์บริการคนพิการแบบเบ็ดเสร็จโดยหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้พิการ และขยายระบบปฐมภูมิ sandbox ในโซนกรุงเทพเหนือโดยทำความร่วมมือกับโรงเรียนแพทย์ และโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข


Comments


bottom of page