การขับเคลื่อนเรื่องสุขภาพ สมุดปกขาว และนโยบายผู้ว่าฯ ชัชชาติ (ตอนที่ 1)
ทีมงาน City Together ได้มีโอกาสพูดคุยต่อเนื่องกับอีกหนึ่งหน่วยงานขับเคลื่อนที่สำคัญของเมือง สำหรับรอบนี้อยากขอแนะนำให้ท่านผู้อ่านได้รู้จักกับพี่เตชิต ชาวบางพรหม หัวหน้าศูนย์ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะกรุงเทพมหานคร สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ อีกหนึ่งใน “เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ” ซึ่งได้ร่วมกันจัดทำ “สมุดปกขาว: ข้อเสนอนโยบายภาคประชาชน” มอบให้แก่ผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ สำหรับเป็นแนวทางในการพัฒนานโยบายสำหรับกรุงเทพฯ ที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน
พี่เตชิตบอกเล่าแก่ทีมงานฟังว่า สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติหรือ สช. เองก็จะทำในเรื่องสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร “ธรรมนูญสุขภาพกรุงเทพมหานคร” แล้วก็จะมีธรรมนูญย่อย ๆ อีก โดยในปีก่อน ๆ เราได้ทำธรรมนูญฯ ออกมา 12 พื้นที่ และตอนนี้ก็ขยายเพิ่มอีก 10 พื้นที่ ทั้งนี้ ผลกระทบจากธรรมนูญฯ ทั้งหมด 22 เขต ก็จะกระทบกับผู้คนประมาณครึ่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร รวมทั้งชุมชนกว่าพันแห่งที่จะได้มีการทำงานขับเคลื่อนด้วย
สำหรับเป้าหมายในเรื่องนี้ก็คือ การพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม และการพัฒนาพื้นที่ตรงกลางให้ทุกคนสามารถแลกเปลี่ยนพูดคุยกันได้ เช่น การพูดคุยเรื่องของแผนที่ทางเดินด้านสุขภาพ หรือแผนที่ยุทธศาสตร์ในการที่จะมีสุขภาพที่ดีขึ้น เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมี “คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.)” ซึ่งคือกลไกแบบเป็นทางการที่เชื่อมระดับนโยบายกับระดับองค์กรภาคีต่าง ๆ ที่มีการบูรณาการร่วมกันมาจัดทำแผน สำหรับสุดท้ายก็จะเป็นเรื่อง “วาระทางสังคม” ซึ่งได้ทำร่วมกับ “เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ” โดยได้ไปร่วมกันออกแบบว่าแต่ละเมืองจะเป็นอย่างไรบ้าง ตอบโจทย์อะไรบ้าง และนำไปสู่อะไร ท้ายที่สุดก็นำไปสู่การเป็น “สมุดปกขาว” ที่เสนอต่อทางผู้ว่าฯ ชัชชาติ
พี่เตชิตกล่าวถึง “สมุดปกขาว” ว่า การมีสมุดปกขาวก็ทำให้ผู้บริหารของ กทม. เองสามารถทำงานได้เร็วขึ้น โดยจะเห็นว่ามีข้อเสนออะไร ข้อกำหนดอะไร และการนำไปสู่การดำเนินการหรือการวางแผนได้เลย ทั้งนี้ ในช่วงแรก ๆ ที่ได้มีการเสนอเรื่องนี้ไปก็ได้ยินเสียงสะท้อนมาว่า มันสัมพันธ์กับ 216 นโยบายของผู้ว่าฯ ชัชชาติ และการมีสมุดปกขาวซึ่งมีเครือข่ายภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคสังคม อยู่เบื้องหลังในการทำงานด้านนี้อยู่ ก็ทำให้เห็นลายแทงว่าวันนี้จะไปเริ่มต้นที่ไหนและจุดไหนบ้าง
Comments