top of page
  • TPD

“กรุงเทพเมืองการศึกษา?”


Voice from Bangkokians

“กรุงเทพเมืองการศึกษา?”



เคยนับกันไหมครับว่ามีมหาวิทยาลัยจำนวนเท่าไหร่ในกรุงเทพมหานคร?


เชื่อว่าหลายคนตอบไม่ได้ และถ้าให้ตอบในใจคือ “มหาศาล”


แต่สิ่งที่ไม่เคยพูดกันเลยก็คือว่า กรุงเทพเป็นเมืองการศึกษา กลับกัน เวลาพูดถึงเมืองการศึกษา ก็จะนึกถึงหัวเมืองทางภูมิภาค เช่นมหาสารคาม ขอนแก่น เชียงใหม่ พิษณุโลก หรือสงขลา


จริง ๆ แล้วอาจจะพูดได้เลยว่า สถาบันการศึกษาชั้นนำตั้งอยู่ในกรุงเทพจำนวนมาก แต่คำถามที่ตามมาคือ สิ่งที่สถาบันการศึกษามอบให้กับเมืองมีอะไรบ้าง


ใจเย็น ๆ ก่อน ที่พูดมาไม่ได้หมายความว่าจะว่าร้ายอะไร แต่เมื่อมองย้อนไปถึงมหาวิทยาลัยในเมืองอื่น ๆ จะพบได้ว่า มหาวิทยาลัยเหล่านั้นทำงานร่วมกับเมืองในด้านการพัฒนาอย่างเข้มแข็งมาก แบบที่เป็นมหาวิทยาลัยออกหน้า ไม่ได้ทำในนามส่วนตัวของอาจารย์ท่านต่าง ๆ


เช่น คณะเกษตรของมหาวิทยาลัยขอนแก่นก็ทำงานร่วมกับเกษตรกรในพื้นที่ด้านการพัฒนาผลผลิต คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกับพื้นที่ หันมาดูที่กรุงเทพมหานคร มหาวิทยาลัยในกรุงเทพผลักดันหรือร่วมมือกับเมืองเลย อย่างน้อยก็ที่ประชาชนรับรู้อย่างกว้างขวาง


ทั้งที่กรุงเทพนี่แหละ เมืองการศึกษาแท้ ๆ มีมหาวิทยาลัยแทบทุกมุมเมือง


คำว่าเมืองการศึกษา ไม่ได้หมายถึงว่ามีที่ให้คนระดมกันมาเรียน แต่หมายถึงว่าที่เหล่านั้นเป็นแหล่งของ “องค์ความรู้” อันน่าจะเอามาใช้ประโยชน์ได้มากกว่าจะเพียงแค่ให้คนเรียนกันเฉย ๆ


แล้วลองนึกดูกันว่า กรุงเทพมีปัญหามากมายเต็มไปหมด ข้าราชการกทม.ก็ไม่ได้จะเป็นเทวดาสามารถจะทำงานได้รอบด้านมากขนาดนั้น พวกเขาต้องการความช่วยเหลือเช่นเดียวกัน การได้ผู้เชี่ยวชาญไปร่วมทำงานคงจะดีไม่น้อย


มานึก ๆ ดู ในกรุงเทพเรามีสถานศึกษาที่เก่งในแต่ละด้านอย่างครบครัน องค์ความรู้ก็มีพร้อม และเชื่อว่าบรรดาสถานศึกษาเหล่านั้นก็พร้อมให้ความร่วมมือ


ปัญหารถติด ผังเมือง เรามีคณะที่สอนเรื่องพวกนี้มากมาย ปัญหาน้ำท่วม เชื่อว่าไม่เกินความสามารถของอาจารย์ชั้นนำ แม้กระทั่งปัญหาเชิงโครงสร้าง สังคม วัฒนธรรม การเมือง หรือพวกมาเฟียทั้งหลาย ทางออกก็เชื่อว่าบรรดาคณะต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ช่วยได้


การที่ส่วนราชการในกทม.จะหันไปหาความเชื่อเหลือจากสถานศึกษาต่าง ๆ ในกรุงเทพนั้นเป็นเรื่องที่จำเป็นและสำคัญ เพราะการระดมสมองช่วยเหลือกันก็เป็นเรื่องที่ควรทำแล้ว แนวทางการแก้ปัญหาต่าง ๆ องค์ความรู้ที่กทม.ไม่มี ก็ควรจะขอความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ให้มาช่วยกัน ให้เมืองได้ร่วมกันทำงาน ไม่ทำให้ความรู้เหล่านั้นสูญเปล่า อีกทั้งยังกระตุ้นทางอ้อมให้มหาวิทยาลัยเหล่านั้นได้พัฒนาต่อเนื่องจากการนำองค์ความรู้เหล่านั้นมาลองผิดลองถูก ลองปฏิบัติจริง มากกว่าจะสอนให้นักศึกษาง่วงเหงาหาวนอนในห้องเรียน


กรุงเทพมหานครยุคใหม่นี้ อาจจะเป็นเวลาที่เหมาะสมแล้วที่จะใช้ประโยชน์จากความเป็น “เมืองการศึกษา” ที่ผู้คนมองข้ามของกทม.ซักที เพื่อให้อะไร ๆ ในเมืองของเราดีขึ้น


ที่พูดมาไม่ได้บอกว่าหน่วยงานราชการไม่มีความสามารถ แต่ความขาดแคลนที่มีก็เป็นสิ่งที่ต้องยอมรับ และการแสวงหาความช่วยเหลือที่เหมาะสมก็เป็นสิ่งสำคัญ


เพราะเมืองไม่ได้พัฒนาหรือเจริญได้จากประชาชนฝ่ายเดียว จากราชการฝ่ายเดียว แต่ทุกคนต้องร่วมมือกัน คนละไม้ คนละมือ และเชื่อว่าผู้คนก็พร้อมที่จะมาร่วมสร้างเมืองกรุงเทพมหานครให้ดีกว่าที่เป็น


댓글


bottom of page