กรุงเทพฯ เมืองสุขภาพแบบมากแต่น้อย
คงไม่มีใครปฏิเสธว่าการไม่มีโรคเหมือนเป็นลาภอันประเสริฐ นั่นคือที่มาของการเกิดสิ่งที่เราเรียกว่าระบบสาธารณสุข (public health system) อันเป็นการรวมกันของคำสองคำได้แก่ "สาธารณะ" ซึ่งหมายถึง สิ่งที่เป็นของประชาชนทั่วไป เพื่อให้คนทั่วๆ ไปเข้าถึงใช้งานได้ กับ "สุขภาพ" ที่หมายถึง ภาวะความสมบูรณ์ของร่างกาย จิตใจ และการดำรงชีวิตอยู่ในสังคม เมื่อรวมกันเป็น "สาธารณสุข" จึงกินความหมายโดยรวมว่าระบบที่จัดให้มีขึ้นเพื่อทำให้ประชาชนทั่วไปเกิดความสมบูรณ์ของร่างกาย จิตใจ และการดำรงชีวิตในสังคม
หันมามองกรุงเทพฯ เราอาจเคยเห็นชื่อโรงพยาบาลรัฐและเอกชนน้อยใหญ่ในกรุงเทพฯ มากมาย หมอดีมีชื่อเฉพาะทางเฉพาะด้านสังกัดอยู่ในโรงพยาบาลในกรุงเทพ แต่เคยนึกสงสัยไหมว่าทำไมเมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขา สื่อมวลชนหลายแขนง และประชาชนจำนวนไม่น้อยต่างโอดครวญว่าระบบสาธารณสุขกรุงเทพฯ ล้มเหลว [1] City Together BKK จะพาสำรวจปัญหาพื้นฐานของระบบสาธารณสุขกรุงเทพฯ
ว่ากันว่าปัญหาใหญ่ของกรุงเทพฯ คือ ระบบสาธารณสุขพื้นฐานที่มีช่องโหว่ช่องว่างขนาดใหญ่ ในต่างจังหวัดเรามีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือ สถานีอนามัย เป็นต้นทาง ก่อนที่จะส่งไม้ต่อให้โรงพยาบาลอำเภอ และสุดท้ายปลายทาง คือ โรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ ขณะที่ในกรุงเทพฯ ด้วยประชากรกว่า 10 ล้านคน กลับมีศูนย์บริการสาธารณสุขกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นต้นทางเทียบเคียงกับ รพ.สต. เพียง 69 ศูนย์ 73 สาขา รวมถึงเครือข่ายคลินิกเอกชน หรือ “คลินิกชุมชนอบอุ่น” ที่ปัจจุบันหลายแห่งถูกปิดถูกยกเลิกสัญญาเพราะขาดความโปร่งใสด้านงบประมาณ
มาดูกันที่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ ที่รวมๆ แล้วมีมากกว่า 140 แห่ง แบ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชนเกินกว่า 100 แห่ง โรงพยาบาลของรัฐ 22 แห่ง โรงพยาบาลกรุงเทพฯ 11 แห่ง และที่เหลือสังกัดรัฐวิสาหกิจหรือโรงพยาบาลเฉพาะทาง ที่บอกว่า ระบบสาธารณสุขกรุงเทพฯ มีช่องโหว่ขนาดใหญ่ เพราะแทบไม่มีใครนึกถึงศูนย์บริการสุขภาพพื้นฐานเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย ครั้นถ้าคนกรุงเทพฯ จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมฉับพลันและไปใช้บริการ สถานบริการสุขภาพเหล่านั้นก็มีไม่เพียงพอ
หรือครั้นจะไปใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถทำได้ เพราะแน่นอนว่าขึ้นชื่อว่าเอกชนที่บริหารบนพื้นฐานแบบธุรกิจแล้ว ค่ารักษาค่ายาก็ต้องแพงกว่าโรงพยาบาลของรัฐและโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพฯ ที่เป็นของสาธารณะ ประชาชนจำนวนมากที่ต้องการใช้สิทธิบัตรทองจึงไปกระจุกตัวแออัดกันในโรงพยาบาลรัฐใหญ่ๆ ไม่กี่แห่ง และรวมถึงโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งที่เปิดรับบัตรทอง ยังไม่นับรวมร้านขายยาที่มีอยู่มากถึง 5,000 แห่งทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งสะท้อนว่าคนกรุงต้องซื้อยากินเองแทนที่จะใช้บริการสาธารณสุขพื้นฐาน แล้วจะไม่ให้เราเรียกว่า "ระบบสาธารณสุขแบบมากแต่น้อย" ได้อย่างไร
นี่คือโจทย์ท้าทายของผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ซึ่งภายใต้นโยบาย 216 ข้อ มีอย่างน้อย 9 นโยบายที่ต้องการยกระดับระบบสาธารณสุขของกรุงเทพ อาทิ ขยายโครงการโรงพยาบาล 10,000 เตียง, ยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุข เพิ่มการรักษา เพิ่มเวลา เพิ่มทรัพยากร, หมอถึงบ้าน ผ่าน Telemedicine, เร่งรัดผลักดันการก่อสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ให้ครอบคลุม, กองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพฯ, เพิ่มจำนวน Excellent Center และยกระดับศูนย์เวชศาสตร์เขตเมือง เป็นต้น คงเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะติดตามความคืบหน้าว่ากรุงเทพฯ จะสามารถอุดช่องโหว่ของระบบแบบมากแต่น้อย และเปลี่ยนไปสู่ระบบสาธณสุขแบบ “มากและมาก" ที่มีสถานบริการสุขภาพเยอะและคนกรุงเข้าถึงได้แยะไม่ตกหล่นได้หรือไม่
[1] “ระบบสาธารณสุข กทม. ไม่เพียงพอ และไม่เป็นเอกภาพ โจทย์ท้าทาย ว่าที่ ผู้ว่าฯ คนใหม่,” มติชนออนไลน์ (1 พ.ค. 65). เข้าถึงจาก
<https://www.matichonweekly.com/column/article_548633>. เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2565
.
Comments