top of page
  • TPD

กรุงเทพฯ เมืองยั่งยืน


กรุงเทพฯ เมืองยั่งยืน



12 ธ.ค. 65 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “Making Bangkok a Sustainable City for Everyone” ณ โรงละครโรงเรียนนานาชาติเคไอเอส เขตห้วยขวาง และได้กล่าวถึงความหมายของ “เมืองที่ยั่งยืน” (Sustainable City) และความสอดคล้องของนโยบาย 9 ดี 9 ด้าน 216 เรื่องของ กทม. กับ 17 เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ไว้อย่างน่าสนใจว่า


“เมืองที่ยั่งยืน หมายถึง การไม่เอาทรัพยากรในอนาคตมาใช้ตอนนี้ แต่ต้องเตรียมเมืองที่มีคุณภาพให้กับคนรุ่นต่อไป ทุกวันนี้เรามีปัญหาจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงซึ่งมีผลต่ออนาคตของลูกหลาน เพราะปัจจุบันเราทำให้เกิดมลพิษ จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องหารือหรือแก้ไขปัญหาความยั่งยืน เพราะเรากำลังทำให้ทรัพยากรในอนาคตของลูกหลานหมดลง ปัจจุบันนี้เราเห็นปัญหาผลกระทบจาก pm2.5 ปัญหาจากหลุมฝังกลบขยะ ปัญหาน้ำเสียในคลอง ปัญหาน้ำท่วม ซึ่งมีแพลตฟอร์มมากมายเพื่อรองรับปัญหาจากอนาคตที่จะเพิ่มขึ้นอีกมาก ดังนั้นวิธีที่เราบริหารจัดการจะส่งผลดีต่อทรัพยากรในอนาคต อาทิ นโยบาย 9 ดี 9 ด้าน 216 ข้อ ของ กทม. 3 เรื่อง คือ คุณภาพชีวิตของคน เช่น ฝุ่น PM 2.5 น้ำเสีย ขยะ ทางเดินเท้า ความปลอดภัย ฯลฯ การเพิ่มประสิทธิภาพของเมือง เป็นการให้บริการที่สะดวกรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ไม่มีทุจริตคอร์รัปชัน และ การเปิดโอกาสให้คนเมือง เช่น โอกาสทำธุรกิจต่าง ๆ ซึ่ง กทม. มีส่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจจัดเทศกาลต่าง ๆ การหาอัตลักษณ์เพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยมีเป้าหมายให้กรุงเทพฯ ติดอันดับ 1 ใน 50 เมืองน่าอยู่”


ทั้งนี้ หากท่านผู้อ่านได้ติดตามแผนการดำเนินงานของ กทม. จะพบว่า แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ซึ่งเป็นแผนที่นำทางหรือกรอบแนวทางการพัฒนาหลักของเมืองนั้น มีความเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเกือบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบยุทธศาสตร์และตัวชี้วัดต่าง ๆ ที่รับเอาตัวชี้วัดการพัฒนาที่ยั่งยืนมาปรับใช้อย่างต่อเนื่อง

และนอกจากนี้ หากลงไปในรายละเอียดแล้วแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ยังถูกแบ่งออกเป็นระยะต่าง ๆ ช่วงละ 5 ปี คือ ระยะที่ 1 พ.ศ. 2556-2560 ระยะที่ 2 พ.ศ. 2561-2565 และระยะที่ 3 พ.ศ. 2566-2570 ซึ่งปัจจุบันอยู่ในช่วงท้ายของแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี ระยะที่ 2 และกำลังจะเข้าสู่ปีแรกของแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี ระยะที่ 3 ในอีกไม่กี่วันนี้


ปิดท้ายนี้ สำหรับท่านผู้อ่านที่สนใจว่าแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2566-2570) มีเนื้อหาสาระในเรื่องใดบ้าง ท่านสามารถเข้าไปอ่านได้ที่



และสำหรับแผนที่ความเชื่อมโยงระหว่าง SDGs กับแผนพัฒนากรุงเทพมหานครในระยะที่ 2 ท่านก็สามารถเข้าไปชมได้ที่


3 views0 comments

Comments


bottom of page