top of page
  • TPD

กรุงเทพฯ เมืองมีชีวิต



การมารวมตัวกันของคนหลากหลายภูมิหลังในเมืองไม่ใช่มิติเดียวของความเป็นเมือง แต่เมืองจะมีชีวิตได้ต้องมีกิจกรรมที่หลากหลาย มีวาไรตี้ มุมเล็กมุมน้อย นับตั้งแต่การจับจ่ายค้าขาย ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ อย่างการเรียกร้องประเด็นสาธารณะ หนึ่งในมิติของการทำให้เมืองมีชีวิต ก็คือ งานเทศกาล เพราะนอกจากผู้คนจะมาร่วมกันเสพซื้อความบันเทิงนานาชนิดแล้ว ยังมีพื้นที่สำหรับพ่อค้าแม่ขาย ให้คนได้จับจ่ายใช้สอย มีพื้นที่ของการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ ผู้คนสามารถหย่อนใจและแชร์ความสุขกับคนอื่นๆ ที่มาร่วมงาน ก่อนหน้าสถานการณ์โควิด-19 เมื่อต้นปี 2563 เทศกาลงานเมืองของคนกรุงเทพฯ แทบจะนับจำนวนได้ ส่วนใหญ่เป็นเทศกาลประจำปีที่อิงกับเทศกาลระดับชาติ จึงขาดอัตลักษณ์ความเป็นเมืองของกรุงเทพฯ ไป ยังไม่ต้องพูดถึงเมื่อมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เทศกาลเหล่านี้ที่มีน้อยอยู่แล้วยิ่งถูกงด ระงับ เพื่อป้องกันไม่ให้คนมารวมตัวกันจำนวนมากๆ ในพื้นที่เดียวกัน แต่ความขาดแคลนทางวัฒนธรรมดังกล่าวก็ถึงคราวสิ้นสุดลง นับตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา กรุงเทพฯ จัดงานเทศกาลประจำเดือนอย่างต่อเนื่อง ไล่เรียงมาตั้งแต่ เทศกาลแห่งความภาคภูมิใจของความหลากหลายทางเพศ (Pride Month) เทศกาลภาพยนตร์ เทศกาลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เทศกาลเด็กและเยาวชน เทศกาลกีฬากรุงเทพฯ ปิดท้ายสิ้นปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่ 3 เดือนเต็มๆ กับ "Colorful Bangkok" ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเทศกาลศิลปะสร้างสรรค์ เดือนธันวาคมก็มีเทศกาลแสงสี และเทศกาลดนตรีในเดือนมกราคม 2566 ยังไม่รวมกิจกรรมแยกย่อยและพื้นที่สร้างสรรค์แสดงออกของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่นับวันหลายคนคงได้พบเห็นจนชินตา ทั้งในพื้นที่สาธารณะ และในพื้นที่เอกชน มิติเมืองสร้างสรรค์ดังกล่าวเป็นหมวดหนึ่งในนโยบาย 216 ข้อของผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ภายใต้หัวข้อ “สร้างสรรค์ดี” 19 นโยบาย หลายอย่างทำไปแล้ว เช่นที่กล่าวมาข้างต้น แต่มีอีกหลายด้านที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นเปลี่ยนศาลาว่าการลานคนเมืองกรุงเทพฯ เป็นพิพิธภัณฑ์เมือง/พื้นที่สร้างสรรค์ และการดึงอัตลักษณ์สร้างเศรษฐกิจ 50 ย่านทั่วกรุงเทพฯ เป็นต้น ต้องยอมรับกันก่อนว่าหลายนโยบายเป็นงานใหญ่ ไม่ใช่แค่เรื่องงบประมาณอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องการมีส่วนร่วมในการวางแผนและดำเนินนโยบาย ให้ตรงใจตอบโจทย์คนกรุงเทพฯ ใช่แล้ว มันไม่ใช่แค่หน้าที่รับผิดชอบของผู้บริหารอย่างเดียว แต่คนกรุงเทพฯ หรือเครือข่ายภาคสังคมที่มีศักยภาพต้องเข้าไปร่วมแรงประสานความคิดให้ออกมาในรูปแบบที่คุ้มค่าและได้ประโยชน์สูงสุด คงจะดีถ้ามิติเมืองสร้างสรรค์ไม่ใช่นโยบายชั่วครั้งคราว ที่อาจหดหาย ลดจำนวนลงไปตามตามความสนใจส่วนบุคคลของคณะผู้บริหาร เพราะด้วยสภาพการใช้ชีวิตที่เคร่งเครียด และรัดตึงของคนเมือง กิจกรรมและเทศกาลสร้างสรรค์พิสูจน์ระดับหนึ่งแล้วว่าให้ชีวิตแก่กรุงเทพฯ ให้ชีวิตแก่คนเมืองได้ไม่มากก็น้อย . กรุงเทพฯ จะมีชีวิตได้แบบนี้ต่อไปหรือไม่ คนกรุงเทพฯ ก็ต้องลุกขึ้นมาขับเคลื่อน ให้พลัง ให้ความคิด ให้สีสีนที่มีชีวิตชีวา และคนกรุงเทพฯ นั่นแหละที่จะตัดสินในตอนสุดท้ายว่าชีวิตของเราผูกพันกับชีวิตของเมืองมากเพียงใด

Comentarios


bottom of page