top of page
  • TPD

กรุงเทพฯ สตาร์ทแพลตฟอร์มใหม่ "เติมเต็ม" เด็กกลุ่มเปราะบางและด้อยโอกาส



การใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ว่ายากแล้ว แต่มันจะยิ่งยากไปใหญ่จะต้องเกิดและเติบเติบโตมาเป็นกลุ่มเปราะบางและด้อยโอกาส ในกรุงเทพฯ เอง มีอัตราการเกิดของประชากรประมาณ 70,000 คนต่อปี และในจำนวนนั้นมีถึง 20,000 คนที่เป็นเด็กในกลุ่มเปราะบางและด้อยโอกาส เราจึงได้เห็นเด็กเยาวชน ซึ่งควรจะเติบโตขึ้นกลายเป็นกำลังสำคัญของชาติ ใช้ชีวิตอยู่ตามริมทางรถไฟ ขายพวงมาลัยตามสี่แยกไฟแดง หลายคนไม่มีผู้ปกครองคอยดูแลเลี้ยงดูอย่างเหมาะสม


เมื่อถึงวัยหัวเลี้ยวหัวต่อก็เลือกเส้นทางชีวิตไปสู่สายเทา หรือสายมืด แม้จะมีกลุ่มเด็กเปราะบางและด้อยโอกาสให้เห็นจนชินตา ภาครัฐและภาคเอกชนก็พยายามอย่างแข็งขันเพื่อที่จะช่วยเหลือเยาวชนกลุ่มนี้ กระนั้น ปัญหาเดิมๆ ของระบบราชการไทยก็ยังวนเวียนมาให้เห็นไม่รู้จบ นั่นคือ การขาดการประสานงานและใช้ข้อมูลชุดเดียวกันจนกระทั้งรับรู้เข้าใจปัญหาร่วมกันจนนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด


เราได้เห็นมาแล้วกับการทำงานของแอป Traffy Fondue (https://www.traffy.in.th/) ที่ช่วยให้การแก้ไขปัญหาเส้นเลือดฝอยในกรุงเทพฯ ได้รับการจัดการอย่างรวดเร็วและตรงจุดอย่างไร และนี่ก็เป็นอีกครั้งที่การทำงานแบบอัพเดทข้อมูลแบบเรียลไทม์และแบ่งปันข้อมูลข้ามหน่วยงาน เพื่อเชื่อมประสานให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพสูง คราวนี้เรียกว่า แพลตฟอร์ม "เติมเต็ม" ซึ่งเป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่างกรุงเทพมหานคร สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (DGA) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนานโยบาย (สวน.)


แพลตฟอร์ม "เติมเต็ม" ทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มกลางให้คนทำงานหน้างานเก็บข้อมูล เพื่อให้สามารถติดตามเด็กเปราะบางตามพื้นที่ต่างๆ (tracking case) ใน 4 มิติ ได้แก่ การเรียนรู้ อาชีพ สุขภาพ และด้านสังคม แล้วจับคู่เด็กที่ต้องการความช่วยเหลือเข้ากับเจ้าหน้าที่รัฐและหน่วยงานที่ดูแลด้านสวัสดิการต่างๆ ด้วยวิธีการนี้ ข้อมูลที่ได้รับก็จะถูกยิงตรงไปถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยจะเริ่มต้นทดลองในพื้นที่เขตลาดกระบังก่อนที่จะขยายให้ครอบคลุมครบ 50 เขต ภายใน 5 ปี


กรุงเทพฯ เริ่มอออกสตาร์ท โดยได้เริ่มประชุมครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวตอนหนึ่งว่า "เด็กคือทรัพยากรที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร เป็นเจ้าของเมืองและเป็นผู้ขับเคลื่อนเมืองในอนาคต การเติบโตในสภาพแวดล้อมนี้จำเป็นต้องมีผู้ใหญ่ดูแลอย่างรอบด้าน ปัจจุบันมีเด็กที่อยู่ในสภาวะขาดแคลนหรือมีปัญหาต่าง ๆ ทั้งการศึกษา ที่อยู่อาศัย การปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง สุขภาพกายและสุขภาพจิต การขาดสารอาหารและอื่น ๆ มากมาย ล้วนแต่เป็นประเด็นที่สลับซับซ้อน ซึ่งข้อมูลความต้องการเหล่านี้หากสามารถส่งผ่านไปยังหน่วยงานหรือผู้ที่ต้องการให้ความช่วยเหลือได้อย่างถูกต้องและเป็นไปอย่างต่อเนื่องยั่งยืน จะทำให้เด็กได้รับความช่วยเหลือจากทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างครอบคลุม"


ถ้าเด็กและเยาวชนคืออนาคตของกรุงเทพฯ การช่วยเหลือให้เด็กในกลุ่มเปราะบางและด้อยโอกาสได้เข้าถึงความต้องการพื้นฐาน ระบบสาธารณสุข การศึกษาพื้นฐาน โอกาสในการประกอบอาชีพ ฯลฯ ไม่เพียงแต่จะทำให้เด็กเหล่านี้กลายเป็นทุนมนุษย์ที่มีศักยภาพในอนาคต แต่ยังแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในเมือง อันเป็นปัญหาที่สั่งสมหมักหมมยากจะแก้ไข ปัญหาทำนองนี้แก้ไม่ได้ถ้าไม่อาศัยความร่วมมือ และเทคโนโลยีช่วยแก้ความขาดประสิทธิภาพและการสานงานตรงนี้ได้ ทีม BKK Bangkok Together ติดตามควบคืบหน้าของโครงการนี้มาอัพเดทกันต่อไป


2 views0 comments

Comments


bottom of page