top of page
  • TPD

กรุงเทพฯ ระบบสุขภาพต้องเชื่อมโยงกัน! (ตอนที่ 2)




ความเดิมตอนที่แล้ว…..City Together BKK พาไปสำรวจช่องโหว่ของระบบสาธารณสุขกรุงเทพฯ ที่แม้มีสถานบริการสุขภาพมากแต่คนกรุงกลับเข้าถึงได้น้อย กรุงเทพฯ มีศูนย์บริการสาธารณสุขขั้นประถมภูมิ 60 ศูนย์ 73 สาขา มีโรงพยาบาลกว่า 140 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลเอกชนและส่วนน้อยเป็นโรงพยาบาลของรัฐกับสังกัดกรุงเทพฯ


ด้วยประชากรกว่า 10 ล้านคน หากปราศจากการบริหารปกครองที่มีประสิทธิภาพก็ไม่น่าแปลกใจที่จะตกอยู่ในสภาพ "ระบบสาธารณสุขแบบมากแต่น้อย" ถ้ามองถึงโครงสร้างการบริหาร ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ดูแลหน่วยงานหลักเกี่ยวกับสาธารณสุข 2 หน่วยงาน คือ สำนักอนามัย ซึ่งกำกับดูแลศูนย์บริการสาธารณสุข และสำนักการแพทย์ ซึ่งกำกับดูแลโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพทั้งหมด ในปี 2565 ได้รับการจัดสรรงบประมาณมากถึง 6500 ล้านบาท แต่ที่แล้วๆ มาประสิทธิภาพยังเป็นสิ่งที่ไกลเกินเอื้อม


กรุงเทพมหานคร เป็นองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ทำให้กรุงเทพฯ มีสถานะแตกต่างและมีอิสระมากกว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไปอย่าง อบต. เทศบาล และอบจ. แต่กระนั้น วิธีปฏิบัติงานก็เป็นระบบราชการไม่ต่างจากองค์กรภาครัฐอื่นๆ ที่เชื่องช้า ขาดการประสานงาน และขาดการขับเคลื่อนนโยบาย


หลายปีก่อนนักวิชาการรัฐศาสตร์วิเคราะห์ปัญหาระบบราชการไทยโดยเรียกชื่อตัวโตๆ ว่า “กรมาธิปไตย” (departmentalism) คือ หน่วยงานระดับกรมรวมศูนย์คน งบประมาณ นโยบาย และการบริหาร มีความเป็นเอกเทศเป็นอิสระในอาณาจักรของตัวเอง ทำงานโดยไม่เชื่อมโยงกับกรมอื่นข้ามกระทรวง หรือแม้แต่ภายในกระทรวงเดียวกัน ทั้งยังขยายอำนาจขยายอาณาจักรลงไปสู่ระดับภูมิภาค แต่เมื่อถึงคราวทำงานที่ต้องบูรณาการกลับขาดเจ้าภาพ เพราะแต่ละกรมมองว่าไม่ใช่ภารกิจหลักของตน ระบบราชการไทยจึงมีลักษณะรวมศูนย์แต่กระจัดกระจาย


หันกลับมาที่กรุงเทพ City Together BKK ได้รับการบอกกล่าวถึงปัญหาลักษณะที่คล้ายถึงกันตั้งแต่เมื่อคราวที่เครือข่ายและองค์กรภาคประชาสังคมร่วมกันร่าง "สมุดปกขาว" ก่อนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ว่าปัญหาอยู่ตรงที่แต่ละสำนักทำงานตามภารกิจหลักของตน ขาดการประสานงาน ขาดตัวกลางเชื่อม ร้อยหน่วยงานเข้าด้วยกัน และก็เป็นปัญหาที่เกิดกับระบบสาธารณสุขกรุงเทพฯ เช่นกัน


ความร่วมมือเป็นปัญหาใหญ่ของระบบสาธารณสุขกรุงเทพเพราะโรงพยาบาลเอกชนมีเหตุผลทางธุรกิจกำกับและมีกฎหมายคุ้มครอง โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมีวิธีการทำงานแบบตัดเสื้อโหลเหมือนกันทั้งประเทศ ขณะที่โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพถูกปล่อยประละเลยจนไล่ตามหลังพัฒนาไม่ทันโรงพยาบาลอื่นๆทั้งทั้งที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจำนวนมาก


นายแพทย์นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวไว้ในงานประชุมวิชาการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ: Service Plan Sharing เขตสุขภาพที่ 13 กรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2562 ไว้อย่างครบถ้วนต้องตรงตามที่กล่าวมาข้างต้นว่า “แม้ กทม.จะมีทรัพยากรมากแต่กลับไม่ได้ใช้อย่างสมบูรณ์ โรงพยาบาลเอกชนเองก็มีหลายระดับ ซึ่ง สธ. ต้องใจกว้างพอที่จะให้ กทม. เข้ามาควบคุมโรงพยาบาลเอกชนใน กทม.เอง ไม่เช่นนั้นจะไปต่อไม่ได้เพราะไม่มีใครมีอำนาจเด็ดขาดที่จะหมุนวนกระบวนการทั้งหมด จึงต้องมีการปฏิรูปใหม่ตั้งแต่คณะทำงานและโครงสร้างเพื่อนำเอาทรัพยากรมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด” [1]


เราเห็นความสำเร็จในการแก้ปัญหาความเชื่อมโยงและความล่าช้าในกรณีเส้นเลือดฝอยของเมืองมาแล้วด้วยแพลตฟอร์ม Traffy Fondue และก็เชื่อว่าหลายคนอยากเห็นการแก้ปัญหาระบบสาธารณสุขกรุงกรุงเทพฯ โดยวิธีการคล้ายๆ กันนี้เพื่อตัดข้ามความอืดอาดของระบบราชการและเชื่อมระบบสุขภาพทั้งหมดเข้าด้วยกัน


[1] “ระดมสมองพัฒนาระบบสุขภาพ ‘เมืองกรุง’: สารพันปัญหาที่ต้องแสวงหาทางออก,” Hfocus เจาะลึกระบบสุขภาพ (26 ส.ค. 2562). เข้าถึงจาก <https://www.hfocus.org/content/2019/08/17598>. เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2565.


Comments


bottom of page