ช่วงเวลาที่ผ่านมา ชาวกรุงเทพมหานครได้เห็นการกลับมาครึกครื้นอีกครั้งของสวนสาธารณะ หลังจากเกิดความไม่สะดวกในการใช้บริการหลายประการจากโรคระบาด ณ ตอนนี้ ผู้คนเริ่มกลับมารวมตัวกันที่สวนสาธารณะอีกครั้ง ไม่ว่าจะเพื่อการออกกำลังกายหรือพบปะปฏิสัมพันธ์
ที่สำคัญเลยก็คือ “เทรนด์” ในปัจจุบันผู้คนหันมาสนใจเรื่องสุขภาพร่างกายมากขึ้น ดังนั้นการออกกำลังกายในสวนสาธารณะจึงเป็นที่นิยมตามไปด้วย
ยิ่งกรุงเทพมีสวนสวย ๆ ที่ปรับปรุงใหม่อย่าง “สวนป่าเบญจกิตติ” ก็ยิ่งทำให้ผู้คนต่างออกจากบ้านเพื่อมาผ่อนคลายในพื้นที่แบบนี้มากขึ้น
แต่ถ้าสังเกตกันให้ดี จะเห็นได้ว่ามันมีเรื่องน่าสนใจอยู่อย่างหนึ่ง นั่นก็คือ สวนสาธารณะที่มีความเพียบพร้อม น่าวิ่งน่าเดิน น่าพาลูกเต้าไปนั่งเล่น ล้วนแล้วกระจุกตัวอยู่ใจกลางเมืองทั้งสิ้น ว่าง่าย ๆ คือบ้านอยู่ชานเมืองนี่ต้อง “หมดสิทธิ์”
แน่นอนว่า สวนสาธารณะจริง ๆ ก็มีกระจายอยู่ทั่วไปในกรุงเทพมหานครทั่วทุกเขต จะสวนเล็กสวนน้อยก็ล้วนแล้วแต่มีให้บริการประชาชน อย่างไรก็ดี ปัญหาหลัก ๆ ที่ทำให้คนมองข้ามสวนตามเขตต่าง ๆ และปล่อยให้มันรกร้างเหงาหงอยก็มีอยู่ และเป็นเรื่องใหญ่เสียด้วย
ถ้าลองคิดดูดี ๆ จะพบว่า สวนสาธารณะยอดนิยมกลางเมืองล้วนแล้วแต่มีจุดเด่นที่เหมือน ๆ กันคือ เดินทางสะดวก ใกล้แหล่งขนส่งมวลชน มีความเพียบพร้อมในเชิงพื้นที่สาธารณะ กล่าวคือ ไม่ว่าจะสวนรถไฟ หรือสวนลุมพินี ก็ล้วนแล้วแต่มีพื้นที่ทั้งพักผ่อนหย่อนใจ มีพื้นที่สำหรับเล่นกีฬา (ที่มากกว่าวิ่ง) รวมถึงมีพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมอื่น ๆ
นั่นจึงทำให้บรรดาสวนสาธารณะในเมืองมันไปไกลเกินกว่าการเป็น “Public Park” แต่มีสภาพเป็น “Public Space Complex” ไปเสียแล้ว ไปนั่งเล่นนอนเล่นก็ได้ ไปออกกำลังกายก็ได้ ไปใช้พื้นที่สำหรับฟังดนตรีหรือชุมนุมทางการเมืองก็ยังได้
ในทางกลับกัน สวนสาธารณะตามพื้นที่อื่น ๆ ที่ไม่ใช่ใจกลางเมืองของกรุงเทพมหานคร กลับเป็นเพียงสวนสาธารณะที่มี “เพื่อให้มี” อรรถประโยชน์ไม่ได้มากมายอะไร เต็มที่ก็ต้นไม้ที่ปลูกไปอย่างงั้น กับทางเดิน-วิ่ง เล็กน้อย ภูมิทัศน์ก็ไม่มีอะไรโดดเด่น บางสวนอาจจะเล็กกว่าสวนหลังบ้านของประชาชนแถวนั้นด้วยซ้ำ
สวนที่มีอะไร ๆ เหมือนกับกลางเมืองก็พอมีอยู่บ้าง บางที่ถึงขนาดมีห้องสมุดประชาชนอยู่ข้างใน แต่ก็น้อยมากจริง ๆ ดังนั้นสวนสาธารณะทั่วกรุงเทพเลยกลายเป็นรกร้างผู้คนไปเสีย ไม่ดึงดูดให้ประชาชนเข้าไปใช้งาน
ทั้งหมดนั้นทำให้เราอาจจะต้องเริ่มมาคิดกันใหม่ มองถึงเรื่องสวนสาธารณะกันใหม่อีกครั้ง
ข้อดีอย่างหนึ่งของสวนสาธาณะทั่วกรุงเทพ ไม่นับสวนใหญ่ ๆ คือสวนเหล่านั้นมักตั้งอยู่ในบริเวณที่เป็นชุมชนหรือย่านที่อยู่อาศัยจริง ๆ ซึ่งนั่นทำให้มันเข้าถึงประชาชนได้ง่าย ต่างกับสวนสาธารณะยักษ์ใหญ่กลางเมือง
ดังนั้น ข้อได้เปรียบตรงนี้อาจจะเป็นสิ่งที่นำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาพื้นที่ได้ไม่มากก็น้อย เริ่มแรกคือปรับปรุงภูมิทัศน์ ซึ่งจริง ๆ แล้วก็ไม่ได้มีอะไรยากเย็น ขอเพียงแค่ตั้งใจลงมือทำ ต่อมาคือการออกแบบพื้นที่ใช้สอยของสวนสาธารณะนั้น ๆ ตามขนาดและลักษณะของพื้นที่ ว่าจริง ๆ แล้วสวนนั้น ๆ ควรจะต้องมีอะไร เช่นคนในพื้นที่นั้นวิ่งกันน้อย แต่นิยมเตะฟุตบอล ก็อาจจะปรับให้มีการสร้างสนามฟุตบอลในสวน ให้คนในชุมชนมาเล่นกัน ออกกำลังกายกัน แล้วก็ออกแบบพื้นที่ช้สอยที่จำเป็น เช่นห้องน้ำ ร้านค้า รวมไปถึงการมีศูนย์ประชุมของชุมชนในสวน แบบที่อาจจะเรียกว่า “Town Hall” ให้ผู้คนในชุมชนมารวมตัวกัน อาจจะเป็นที่พบปะของชุมชนกับราชการ หรือเป็นพื้นที่กิจกรรมพัฒนาเยาวชนก็ย่อมได้
โดยภาพรวม มันก็คือการสร้าง Public Space Complex นั่นเอง เป็นที่ที่กทม.เองมีอยู่แล้ว ก็นำมาทำให้ให้มันตอบสนองกับผู้คนมากขึ้น มากกว่าจะเป็นการล้อมรั้วปลูกต้นไม้ เทปูนทำทางวิ่ง แล้วก็ปักป้ายว่าเป็นสวนสาธารณะไปงั้น ๆ มีเพราะเขาบอกให้มี แบบนั้นไม่มีประโยชน์ การทำ Complex แบบนี้ให้ชุมชน จะส่งผลประโยชน์ได้มากกว่า ชุมชนสามารถใช้ประโยชน์หลายอย่างได้พร้อม ๆ กัน
ในอนาคต กรุงเทพมหานครต้องมาไปให้ไกลกว่าการมีสวนสาธารณะ แต่ต้องมองถึงการสร้างหรือพัฒนาพื้นที่สาธารณะที่มีอยู่เดิมแล้ว ให้สามารถใช้เพื่อตอบสนองความต้องการอันหลากหลายมากขึ้นของประชาชน
Comments